สัมมนาออนไลน์เรื่องโรคโควิด-19 กับอุตสาหกรรมฮาลาล ตอนที่ 1

เมื่อวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม 2020 (2563) ผมได้รับเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยายออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom ในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมฮาลาลระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” (Prospects and Challenges of Halal Industry during The COVID-19 Pandemic) ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ทรงคุณวุฒิและคณาจารย์แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (The Association of Experts and Lecturers of the Republic of Indonesia, ADRI) ผู้ร่วมบรรยายมาจากอินโดนีเซีย มาเลเซียและประเทศไทยอย่างละคน ใช้เวลาครึ่งวัน ผู้ร่วมรับฟังประมาณ 200 คน เป็นนักวิชาการจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 30 คน แม้การใช้เทคโนโลยีออนไลน์จะกระท่อนกระแท่นไปบ้าง แต่ผลสัมฤทธิ์ค่อนข้างสูง ตามที่เคยบอกกันไว้คือผมขอนำข้อมูลในการบรรยายมาเสนอให้พวกเราได้รับทราบกัน ดูเหมือนวิธีการประชุมผ่านระบบออนไลน์ได้กลายเป็น #ความปกติใหม่ (New Normal) ของ #โลกยุคหลังโควิด-19 (Post-COVID-19) แม้เมื่อโควิด-19 ซาลงหรือหมดไปแล้ว อันที่จริงโควิด-19 มิใช่ตัวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่เป็นคล้ายเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวเร่ง อย่างเช่น โลกออนไลน์ที่เชื่อมโยงกันไปหมดเป็นสิ่งที่ใกล้จะเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว โดยโควิด-19 ทำให้เกิดเร็วขึ้น แต่มีบางอย่างที่โควิด-19 เป็นตัวสร้างการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น กระบวนการ #ภูมิภาคภิวัฒน์ (#Regionalization) ที่ฟื้นคืนชีพเมื่อเกิดการล่มสลายของกระบวนการ #โลกาภิวัตน์ (#De-Globalization) และการล่มสลายของการจับขั้วกันระหว่างสองเรื่องสองกลุ่ม (#De-Coupling) ในส่วนของวัฒนธรรม (Cultures) และวิถีชีวิตของมุสลิมคงต้องยอมรับว่าโรคโควิด-19 สร้างผลกระทบค่อนข้างมาก ผมไม่ใช้คำว่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอิสลามเพราะศาสนาให้ความยืดหยุ่นไว้สูง เพียงแต่มุสลิมนำเอาวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมของตนเองในแต่ละท้องถิ่นไปผูกไว้จนทำให้ความยืดหยุ่นลดลง เป็นต้นว่า #วิถีชีวิตของมุสลิมในอาเซียนและเอเชียใต้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง สิ่งที่กระทบและการปรับตัว เช่น การละหมาดร่วมกันชนิดยืนชิดติดกันในมัสยิดซึ่งรวมถึงการละหมาดวันศุกร์ ละหมาดตะรอเวียะฮฺเดือนรอมฎอนหรือแม้กระทั่งการละหมาดวันตรุษอิดิลฟิตริจำเป็นต้องระงับ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากจังหวัดและคณะกรรมการอิสลาม โดยปฏิบัติตามแนวทางที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนดไว้ไม่ว่าจะเรื่องการกำจัดเชื้อในมัสยิด ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของทุกคน เข้าออกมัสยิดทางเดียว ล้างมือถูกต้อง สวมหน้ากากอนามัย อาบน้ำละหมาดจากบ้าน นำผ้าปูละหมาด (سجادة ซะญาดะฮฺ) มาเอง เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ลดเวลาการร่วมกิจกรรมละหมาดไม่เกิน 20 นาที งดกิจกรรมกลุ่มดะอฺวะฮฺ/ตับลีฆทั้งหมด งดกิจกรรมในมัสยิดเดือนรอมฎอนอย่างเช่น การร่วมมื้ออาหารสะฮูร อิฟตะฮฺ การจำกัดขนาดการชุมนุมในงานแต่งงาน งานศพ งานอื่นๆ รวมถึงการละเว้นพิธีฮัจญฺและอุมเราะฮฺที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เรื่องเช่นนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทว่าอิสลามยืดหยุ่นไว้เพียงแต่เป็นสิ่งที่วัฒนธรรมมุสลิมในพื้นที่ไม่เคยพบ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่จำเป็นต้องปฏิบัติ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *