การศึกษาออนไลน์จากโลกแห่งความฝันถึงโลกแห่งความจริง

โรคโควิด-19 ไม่ใช่ตัวสร้างปัญหาแต่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น พูดภาษาชีวเคมีคือมันไม่ใช่ substrate หรือ reactant แต่เป็นเอนไซม์ทำให้ปฏิกิริยาเกิดเร็วขึ้น ว่ากันอย่างนั้นโลกการศึกษายุค 4.0 จำเป็นต้องผสมผสานการศึกษาในชั้นเรียนกับการศึกษาทางไกลผสมผสานกับการเรียนออนไลน์ที่โต้ตอบกันได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เป็นระบบออนไลน์ร่วมกับอ็อฟไลน์ที่เรียนกันในชั้นเรียน สังคมจะค่อยๆเปลี่ยนไปในทิศทางนั้น แต่โควิด-19 เร่งให้เกิดระบบออนไลน์เร็วขึ้น เด็กนักเรียนจำเป็นต้องเรียนจากบ้านหรือ learn from home สามารถโต้ตอบกับครูได้ไม่ต่างจากการเรียนออฟไลน์ในชั้นเรียน ทว่าเมื่อปฏิบัติกันจริง สังคมไทยจึงได้เห็นปัญหา เด็กนักเรียนจำนวนมากไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ด้วยสารพัดปัญหา ที่บ้านไม่มีโน๊ตบุ้ค ขาดคอมพิวเตอร์ แถบถิ่นที่อยู่ไม่มีเสาสัญญาณ หรือสัญญานอ่อน ขาดวายฟาย (wi-fi) เด็กขาดพี่เลี้ยง ขาดทักษะ และอีกสารพัดปัญหา โควิด-19 ช่วยให้เราประจักษ์กับปัญหาได้เร็วขึ้นผมเขียนบทความเรื่องเทคโนโลยีให้กับนิตยสารดอกเบี้ยและสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์มานานตั้งแต่ พ.ศ.2535 เอาเป็นว่าตั้งแต่เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศยากจนพอๆกับประเทศไทย จำได้ไม่เคยลืมว่าวิสัยทัศน์ของเกาหลีใต้ในการพัฒนาคนคือเรื่องการศึกษา และการเร่งกระบวนการศึกษาคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือ infrastructure ด้านอินเตอร์เน็ต โดยต้องเป็นเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 เมื่อเกิดวิกฤติครั้งนั้น เกาหลีใต้ประสบปัญหาหนักไม่ต่างจากไทย ทว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาที่เขาวางระบบไว้ก่อนประเทศไทย ระบบอินเตอร์เน็ตที่ก้าวหน้ามากกว่าทำให้เขารอดพ้นวิกฤติได้ก่อน ไม่เพียงเท่านั้นยังกลายเป็นหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมรวมทั้งเทคโนโลยีทำให้เกาหลีใต้เติบโตอย่างก้าวกระโดด แซงประเทศไทยจนไม่เห็นฝุ่นไปแล้วโควิด-19 สร้างปัญหาด้านการศึกษาในชั้นเรียนของเด็กค่อนข้างมาก เพราะเด็กติดเชื้อไวรัสโคโรน่าอาจไม่แสดงอาการแต่นำเชื้อกลับไปติดคนในบ้านและสังคมเป็นเหตุผลที่ทำให้ฝ่ายสาธารณสุขกังวลกับการเปิดโรงเรียน ดังนั้น การศึกษาออนไลน์จึงเป็นทางออก เมื่อเกิดปัญหาการเรียนออนไลน์ทำไม่ได้จำเป็นต้องหาทางออกอื่นนั่นคือใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งเป็นระบบเก่าโดยนำเสนอรายการที่กว้างขวางขึ้นจากในอดีต แต่การศึกษาทางไกลในลักษณะให้ความรู้ทางเดียวหรือ one-way ให้ศักยภาพสู้ออนไลน์ที่เป็นการศึกษาสองทาง two-way ไม่ได้ ฝ่ายนโยบายมองว่ายังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย อะไรที่เป็นปัญหาไว้แก้กันที่หลัง ซึ่งเป็นไปตามคาดนั่น คือการเมืองทำให้การลงทุนด้านดิจิตอลเพื่อการศึกษาเกิดได้ไม่ง่าย ฝ่ายค้าน ฝ่ายสงสัย ฝ่ายตรวจสอบในประเทศของเรามีมากเกินไป นี่คือปัญหาอมตะในบ้านเรา วันนี้โควิด-19 ทำให้ปัญหาด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตปรากฏแก่สายตาของฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยเร็วขึ้นมาก ส่วนปรากฏออกมาแล้วจะเห็นประจักษ์หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มีเรื่องราวอยู่มากมายที่มองแต่ไม่เห็น ฟังแต่ไม่ได้ยิน อย่างไรก็ตาม ผมยังมองโลกแง่ดี โดยมองว่ารัฐบาลเริ่มรู้วิธีที่จะแก้ปัญหาการเมืองในงานบริหารแล้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *