สังคมพหุวัฒนธรรม ปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาสังคมในอิสลาม

วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2567 ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร ให้ร่วมบรรยายเรื่อง “อิสลามในสังคมพหุวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นหัวข้อที่ผมสนใจมากอยู่แล้ว หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ความสำเร็จในอิสลาม การส่งมุสอับ อิบนฺ อุมัยรฺ ไปยังมะดีนะฮฺเพื่อทำงาน “บีอฺซะฮฺ” (بِعثَة Betha) เชิญชวนผู้คนเข้าสู่ศรัทธาก่อนการ “ฮิจเราะฮฺ” (الهجرة Hijrah) หรืออพยพของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ รวมถึงการส่งบีอฺซะฮฺไปแต่ละชุมชนก่อนพิธี “ฮัจญฺ” (الحج Hajj) ล้วนเป็นวัฒนธรรมการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมเพื่อความสำเร็จในอิสลามทั้งสิ้น ย้อนกลับไปใน ค.ศ.619 หลังจากท่านนบีพลาดหวังในงานเผยแผ่อิสลาม (ดะอฺวะฮฺ) ที่เมืองฎออีฟ ท่านเห็นว่าปัจจัยความสำเร็จคือความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ท่านจึงหันไปที่พิธีฮัจญฺในมักกะฮฺ ค.ศ.621 นำไปสู่การทำสนธิสัญญาอะกอบะฮฺครั้งที่ 1 และ 2 กับชาวมะดีนะฮฺ การสร้างแนวคิดบีอฺซะฮฺเพื่อสลายความแตกต่างหลอมรวมสังคมกลายเป็นวัฒนธรรมสำคัญของการสรรสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น โดยเป็นเสมือนการเติมสารเลซิทินลงในสารผสมเพื่อให้น้ำมันหลอมรวมเข้ากับน้ำชนิดไร้รอยต่อในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ใน ค.ศ.2009 นักเขียนอังกฤษ Ehsan Masood เขียนหนังสือชื่อ Science and Islam ระบุว่าฮิจเราะฮฺที่เกิดขึ้นหลายครั้งในอิสลามได้สร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น กระทั่งกำเนิดเป็น “ไบตุลฮิกมะฮฺ” ใน ค.ศ.830 โดยคอลีฟะฮฺอัลมะมูน แห่งราชวงศ์อับบาสิยะฮฺ ดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ต่างวัฒนธรรมและศาสนาเข้ามาโดยสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมหลอมรวมคนเหล่านั้นให้สรรสร้างความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์กระทั่งนำโลกอิสลามเข้าสู่ยุคทอง ความหลากหลายของนักวิชาการในโลกอิสลามครั้งนั้นมีมากกว่าที่ปรากฏในสถาบันของยุโรปและอเมริกาเหนือที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน สังคมพหุวัฒนธรรมจึงเป็นปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาสังคมในอิสลามอีกตัวอย่างความสำเร็จคือการเผยแผ่อิสลามในอินโดนีเซีย อิสลามเข้าสู่อินโดนีเซียตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 ทว่าจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ยังหาความสำเร็จไม่ได้ กระทั่งถึงศตวรรษที่ 15 นักวิชาการอิสลามท้องถิ่นเก้าคนที่เรียกว่า “วะลีซองงอ” เผยแผ่อิสลามไปทั่วเกาะชวาได้สำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 50 ปีเปลี่ยนชนพื้นเมืองอินโดนีเซียร้อยละ 90 จากฮินดูพุทธให้กลายเป็นมุสลิมโดยผสมกลมกลืนวัฒนธรรมที่แตกต่างกันให้เข้ากันได้ชนิดไร้รอยต่อ เกิดเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่หลอมรวมประโยชน์ของทุกฝ่ายไว้ อิสลามในอดีตประสบความสำเร็จถึงระดับนั้นมาแล้ว สิ่งท้าทายคืออิสลามในสังคมยุคใหม่ จะถอดบทเรียนความสำเร็จจากอดีตมารับใช้ปัจจุบันได้อย่างไร#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #พหุวัฒนธรรม, #อิสลาม, #วะลีซองงอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *