สว.เพิ่มผักผลไม้หน่อยเพื่อป้องกันความจำเสื่อม

สว.ในที่นี้ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นเรื่องการเมือง แต่ในที่นี้หมายถึงผู้สูงวัยหรือคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยมีงานวิจัยในประชากรศึกษากันระยะยาวใช้เวลา 1-3 ปีใน สว.จำนวน 3,500 คน ให้เสริมแคปซูลฟลาวานอล 500 มิลลิกรัมต่อวันบวกกับ 80 มิลลิกรัม อีฟิคะเตชิน (epicatechins) ปริมาณนี้คือปริมาณที่แนะนำให้บริโภคในอาหารปกติเพื่อให้ได้รับสารฟลาวานอลในปริมาณที่ร่างกายควรจะได้รับ ผู้วิจัยมาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เดือนพฤษภาคม 2023 สิ่งที่พบคือ สว. กลุ่มที่ไม่ได้รับสารฟลาวานอล หรือกลุ่มที่ไม่นิยมบริโภคผักผลไม้ หรือบริโภคผักผลไม้ที่มีสารฟลาวานอล (flavanols) ต่ำ มีความเสี่ยงต่อปัญหาความจำเสื่อมง่ายกว่าผู้ที่บริโภคผักผลไม้ครบส่วน ผู้วิจัยจึงแนะนำให้เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ที่มีสารฟลาวานอล ในทางโภชนาการสมัยใหม่ สารไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) คือสารเคมีตัวเล็กๆที่พบในพืชผัก มีนับเป็นจำนวนหมื่น สารกลุ่มนี้ไม่นับเป็นสารอาหาร ไม่ใช่วิตามินหรือเกลือแร่ ทว่าช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติหรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์รวมทั้งช่วยเมแทบอลิซึมในร่างกายโดยรวม ในงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวถึงไฟโตนิวเทรียนท์กลุ่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “ฟลาวานอล (flavanols)” สารกลุ่มนี้มี 6 กลุ่มย่อย พืชผักชนิดไหนบ้างที่จะพบฟลาวานอลได้มาก ลองไปดูกันเลยก็แล้วกัน แยกกันเป็นกลุ่มย่อย (1) ฟลาโวนอล กลุ่มนี้มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และอีกหลายโรค พบได้ใน หัวหอม, ผักคะน้า, องุ่น, ชา, ลูกพีช, ผลเบอร์รี่, มะเขือเทศ, ผักกาดหอม, ต้นหอม, บร็อคโคลี (2) ฟลาวาน-3-ออล (flavo-3-ols) อุดมไปด้วยสารอาหาร พบได้ใน ชาขาว, ชาเขียว, ชาอู่หลง, ชาดำ, แอปเปิ้ล, องุ่นสีม่วงและแดง, บลูเบอร์รี่, สตรอเบอร์รี่, ผลิตภัณฑ์โกโก้และช็อกโกแลต (3) ฟลาโวน (flavones) เป็นเม็ดสีในพืชดอกสีน้ำเงินและสีขาว เป็นสารกำจัดศัตรูพืชตามธรรมชาติ ช่วยปกป้องใบไม้จากแมลงที่เป็นอันตราย ฟลาโวนอาจช่วยเรื่องการอักเสบในร่างกาย พบมากใน พาสลีย์, ผักชีฝรั่ง, พริกแดง, ดอกคาโมไมล์, สะระแหน่ (4) ฟลาวาโนน (flavanone) มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ช่วยลดน้ำหนักตัว ลดคอเลสเตอรอล พบได้ในอาหาร เลมอน, มะนาวเขียว, ส้ม, เกรฟฟรุ๊ต (5) ไอโซฟลาโวน (isoflavones) ช่วยรักษาสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย พบมากใน ถั่วเหลือง, ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง และพืชตระกูลถั่วอื่นๆ เช่น ถั่วฟาวา (6) แอนโทไซยานิน (anthocyanins) เป็นสารสีที่ผลิตขึ้นตามธรรมชาติซึ่งทำให้ดอกไม้มีสีแดง ม่วง และน้ำเงิน ส่วนใหญ่จะพบในผิวด้านนอกของผลเบอร์รี่และผลิตภัณฑ์จากผลเบอร์รี่ เช่น องุ่นแดงและม่วง, แครนเบอร์รี่, บลูเบอร์รี่, ลูกหว้า, มะหวด, สตรอเบอร์รี่, แบล็กเบอร์รี่ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ความจำเสื่อม, #ฟลาวานอล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *