ก่อนจะเป็น ศวฮ. ภาคที่ 1 ตอนที่ 1.6 ห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล

ใน พ.ศ.2538 คณบดี คณะสหเวชศาสตร์ ผศ.ดร.ปิยพร ณ นคร มอบพื้นที่ขนาด 32 ตารางเมตรของอาคาร 14 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 2 ชิ้น ได้แก่ Gas Chromatograph (GC) และ Spectrophotometer ให้ผมเริ่มงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลภายใต้ศูนย์วิจัยไขมันและน้ำมัน คณะสหเวชศาสตร์ งานเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ถึง พ.ศ.2542 จึงย้ายตามคณะสหเวชศาสตร์ไปที่ชั้น 13 อาคารวิทยกิตติ์ สยามสแควร์ พื้นที่เพิ่มเป็น 80 ตารางเมตร ใน พ.ศ.2543 ผมได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ ภายใต้อธิการบดี รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร กระทั่ง พ.ศ.2546 คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลในคณะสหเวชศาสตร์ อธิการบดีมอบอาคารจุฬาพัฒน์ 6 พื้นที่ 320 ตารางเมตร ในบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ของคณะสหเวชศาสตร์ ให้จัดทำเป็นที่ทำการของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในเวลานั้นปลาย พ.ศ.2547 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้อธิการบดี ศ.ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ สนับสนุนให้แยกงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลออกจากคณะสหเวชศาสตร์ ยกขึ้นเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ถึง พ.ศ.2551 ศวฮ.ย้ายจากอาคารจุฬาพัฒน์ 6 ไปที่ชั้น 11 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศวฮ.ภายใต้อธิการบดี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล เติบโตทางกายภาพอย่างรวดเร็ว มีการอนุมัติพื้นที่เพิ่มเติม เมื่อถึง พ.ศ.2558 ศวฮ.ครอบครองพื้นที่ทั้งหมดของชั้น 11-13 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวม 2,742 ตารางเมตร จัดทำเป็นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่เรียกกันว่า “ห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล” (Halal Forensic Science Laboratory หรือ HAFOLAB) โดยจัดชั้น 11 เป็นพื้นที่ห้องปฏิบัติการบริการ, ชั้น 13 เป็นพื้นที่ห้องปฏิบัติการวิจัย และชั้น 12 เป็นสำนักงานบริหารพ.ศ.2566 ศวฮ. มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ทันสมัยอยู่รวมทั้งสิ้นกว่า 200 ชิ้น เช่น Gas Chromatograph (GC) 6 เครื่องเพื่องานวิเคราะห์กรดไขมันและแอลกอฮอล์, เครื่อง GC-MS/MS 2 เครื่อง, เครื่อง High Performance Liquid Chromatograph (HPLC) 7 เครื่อง: ชนิดธรรมดา 2 เครื่อง; ชนิด UHPLC 2 เครื่อง; ชนิด LC/MS (Mass Spectrometer) 3 เครื่อง คือ LC-QTOF 1 เครื่อง; LC-MS/TQ 1 เครื่อง; LC-MS/ESI 1 เครื่อง เพื่องานวิเคราะห์มวลโปรตีนและสารอินทรีย์ชนิดซับซ้อน นอกจากนี้ยังมี FTIR, ICP และอื่นๆ ห้องปฏิบัติการวิจัยจัดตั้งเป็นงานด้านคอสเมติกส์, นาโนวิทยา, ชีววิทยาโมเลกุล (ดีเอ็นเอ), ชีวเคมี, ศวฮ.พัฒนาเทคนิควิเคราะห์ด้านดีเอ็นเอขึ้นอย่างหลากหลายทั้ง rt-PCR, Droplet Digital PCR, PGM นอกจากนี้เพื่อรำลึกถึงบุคคลผู้มีพระคุณต่อ ศวฮ. มีการตั้งชื่อห้องปฏิบัติการสองห้องว่า “ห้องปฏิบัติการชีววิทยาโมเลกุล วันมูหะมัดนอร์ มะทา” (พ.ศ.2556) และ “ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” (พ.ศ.2561) ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลของ ศวฮ. นับเป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดของประเทศ มีแขกต่างประเทศและในประเทศแวะเวียนมาเยี่ยมเยืยนมิได้ขาด#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ก่อนจะเป็นศวฮ., #hafolab

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *