วิทยาศาสตร์ฮาลาลจากประเทศไทยสู่ “กาตาร์” และกลุ่มประเทศอาหรับรอบอ่าว

ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าจะวัดกันผ่านมิติไหน ในบรรดาประเทศมุสลิมสมาชิกองค์การโอไอซี 57 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอาหรับร่ำรวยที่เป็นสมาชิกสภาความร่วมมือรอบอ่าว (Gulf Cooperation Council หรือ จีซีซี) “กาตาร์” (Qatar) คือประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากรต่อปีสูงที่สุด มีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในระดับแถวหน้าในโลก สวัสดิการสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นรวมถึงแรงงานต่างถิ่นในประเทศอยู่ในระดับสูง ทุกอย่างในประเทศเป็นระบบระเบียบจนแทบไม่มีที่ติ วันที่ 13-16 กันยายน 2566 ผมและ ดร.อาณัฐ เด่นยิ่งโยชน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ได้รับเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกาตาร์เข้าร่วมงานสัมมนาทางวิชาการหัวข้อ Thailand’s Shariah-Compliant Innovation ผู้ฟังคือบรรดาทูตานุทูตที่ประจำอยู่ในกรุงโดฮาและนักธุรกิจ ผมเคยเดินทางมากาตาร์ก่อนหน้านี้สองครั้งเมื่อนานเกินสิบปีมาแล้ว การเยือนครั้งนี้ได้เห็นอะไรมากมายกว่าเก่า ได้เยี่ยมเยืยนสถานที่ที่ต้องการจากความกรุณาของท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกาตาร์ ท่านศิระ สว่างศิลป์ ผมและ ดร.อาณัฐ ไปบรรยายเรื่องงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีฮาลาลที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน โดย ศวฮ.พัฒนางานโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล ได้แก่ งานวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ งานการมาตรฐานฮาลาล งานฐานข้อมูลวัตถุดิบ งานเทคโนโลยีดิจิทัล งานคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ฮาลาล รวมถึงงานนวัตกรรมฮาลาลเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อันเป็นผลให้ประเทศไทยที่แม้มิใช่ประเทศมุสลิมได้รับการยกย่องว่าคือผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลสมควรเผยแผ่ความรู้และประสบการณ์ที่สะสมไว้แก่ประเทศอื่นๆทั่วโลก มีมหาวิทยาลัยหลายร้อยจากหลายประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมเครือข่ายกับ ศวฮ.งานบรรยายครั้งนี้นำเสนอความเป็นมาของวิทยาศาสตร์ฮาลาลในประเทศไทยที่ถือกำเนิดเป็นครั้งแรกในโลก แนะนำการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น บล็อกเชน งานพัฒนานวัตกรรมอาหารฟังก์ชั่น การสาธิตนวัตกรรมการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ มีทูตานุทูตและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากอาเซียน เอเชียกลาง เอเชียตะวันออก ตลอดจนนักธุรกิจไม่ต่ำกว่า 30 ราย ให้ความสนใจซักถาม วิทยาศาสตร์ฮาลาลได้ทำหน้าที่เสมือนทูตวัฒนธรรมของประเทศไทยอีกครั้งช่วยสร้างความไว้วางใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ส่งออกจากประเทศไทย ศวฮ.ใช้โอกาสนี้เข้าเยี่ยมชมความก้าวหน้าทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกาตาร์ เช่น มหาวิทยาลัยกาตาร์ มูลนิธิกาตาร์ มหาวิทยาลัยฮามัดบินคาร์ลิฟา อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกาตาร์ หอสมุดแห่งชาติกาตาร์ ได้พบปะเจ้าหน้าที่ระดับสูง ปรึกษาหารือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งหมดนี้ท่านเอกอัครราชทูตไทยกรุณานำทีมเจรจาด้วยตนเอง เชื่อมั่นว่าจะเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศกาตาร์และประเทศไทยอย่างมากมายในอนาคต#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ศิระสว่างศิลป์, #สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกาตาร์, #ประเทศกาตาร์, #วิทยาศาสตร์ฮาลาล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *