วันที่ 13 มีนาคมในประวัติศาสตร์โลกอิสลาม: สงครามบะดัร

ย้อนเวลากลับไป 1,396 ปีคือวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ.624 ตรงกับวันที่ 17 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ.2 ตามปฏิทินอาหรับ วันนั้นเกิดสงครามขึ้นในเขตฮิจาซของคาบสมุทรอาระเบียระหว่างกองทัพมะดีนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (ซ.ล.) กับกองทัพกุเรซจากเมืองมักกะฮฺ การรบเกิดขึ้นที่บ่อน้ำบะดัรซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมะดีนะฮฺลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 113 กิโลเมตร นับเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกของกองทัพมุสลิมซึ่งเวลานั้นยังรวมตัวกันได้ไม่ดีนัก ทว่าผลของการรบกลับเป็นชัยชนะของกองทัพมุสลิม ส่งผลเชิงบวกต่อสถานะของมุสลิมในมะดีนะฮฺอย่างมาก สงครามครั้งนั้นนักประวัติศาสตร์เห็นว่ามีความพิเศษอยู่หลายประการ

เห็นกันชัดเจนคือกองทัพมุสลิมมีจำนวนน้อยกว่ากองทัพกุเรซขนาด 313 คนต่อ 1,000 คน สงครามเกิดในเดือนรอมฎอน (เดือนที่ 9 ฮ.ศ.2) ซึ่งการถือศีลอดถูกกำหนดแก่มุสลิมเป็นปีแรก ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:183 วะฮียฺนี้ประทานสู่มุสลิมในเดือนชะอฺบาน (เดือนที่ 8 ฮ.ศ.2) ก่อนสงครามบะดัรไม่ถึงเดือน ทหารในกองทัพมุสลิมจึงมีผู้ถือศีลอดและไม่ถือคละเคล้ากัน นักประวัติศาสตร์ตะวันตกยกย่องกลยุทธของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ในสงครามครั้งนั้นไว้มาก โดยก่อนสงครามจะเกิดขึ้น มุสลิมภายใต้การนำของท่านได้ดำเนินงานตามกลยุทธของท่านนบีอันส่งผลเชิงบวกแก่มุสลิมทั้งในสงครามครั้งนั้นและสงครามครั้งต่อๆมา

กลยุทธที่ดำเนินการ ได้แก่ (1) การทูต (Diplomacy) โดยใช้การเจรจาต่อรองเพื่อผูกไมตรีกับชนเผ่าต่างๆที่อยู่รายรอบมะดีนะฮฺที่มีแนวโน้มว่าอาจเข้าร่วมกับฝ่ายมักกะฮฺ (2) การข่าว (Intelligence) มุสลิมได้รับข่าวสารจากมุสลิมที่ซ่อนตัวภายในเมืองมักกะฮฺทำให้ทราบข่าวการศึกเป็นการล่วงหน้า นอกจากนี้ยังช่วยให้มุสลิมในมักกะฮฺบางส่วนเดินทางมายังมะดีนะฮฺได้เป็นผลสำเร็จโดยแฝงตัวร่วมเดินทางมากับกองทัพมักกะฮฺ (3) เศรษฐกิจ (Economy) โดยมุสลิมขัดขวางเส้นทางการค้าระหว่างมักกะฮฺกับดินแดนชามทางตอนเหนือนับเป็นการตัดกำลังทางเศรษฐกิจของมักกะฮฺก่อนสงครามจะเริ่มต้นที่ค่อนข้างได้ผล

(4) จิตวิทยา (Psychology) เซอร์วิลเลียม มูเออร์ (William Muir) นักประวัติศาสตร์ชาวสกอตแลนด์บันทึกไว้ในหนังสือชื่อ Life of Mahomet ว่าในสงครามบะดัร กองทัพมุสลิมจับเชลยศึกชาวมักกะฮฺไว้ได้ 70 คน โดยมุสลิมปฏิบัติต่อเชลยศึกดียิ่งกว่าตนเอง เช่น ช่วงเดินทางกลับจากบะดัรสู่มะดีนะฮฺ มีการให้เชลยศึกขี่ม้าและอูฐ ขณะที่มุสลิมเดินเท้า เชลยศึกกินอาหารดีกว่าทหารมุสลิม เชลยศึกที่ไม่สามารถหาเงินไถ่ตัวสามารถใช้วิธีการสอนหนังสือแก่ชาวมะดีนะฮฺ 10 คนแทนเงินค่าไถ่ตัว การกระทำด้วยเมตตาดังกล่าวทำให้เชลยจำนวนหนึ่งเข้ารับอิสลามโดยไม่ยอมกลับไปยังมักกะฮฺ

น้อยครั้งที่เรื่องราวของสงครามในยุคสมัยของท่านนบีมีบันทึกอยู่ในอัลกุรอาน สงครามบะดัรคือหนึ่งในนั้นซึ่งมีบันทึกไว้ในซูเราะฮฺ อัลอิมรอน 3:123-125, 3:13 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซูเราะฮฺที่ 8 อัลอัมฟาล สงครามบะดัรคือฉากหลังของเนื้อหาที่ปรากฏในอัลกุรอานซูเราะฮฺนี้ #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#สงครามบะดัร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *