วัฒนธรรมการเรียนรู้นำพาสังคมไปสู่การเป็นชาติพัฒนา

เคยสังเกตไหม หลายประเทศกำลังพัฒนา (Developing countries) เคยมีกระแสเร่งสร้างความก้าวหน้าให้ประเทศตนเองในยุคศตวรรษที่ 19-20 โดยส่งชนชั้นหัวกะทิจำนวนมากไปศึกษาระดับปริญญาตรี-เอกในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างยุโรปและอเมริกาเหนือ ทว่าเมื่อจบการศึกษากลับคืนสู่บ้านเกิดกลับไม่สามารถผลักดันประเทศตนเองให้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นประเทศพัฒนาได้ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เตอร์เคียคือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ว่านั้น“เอกเมเลดดิน อิซานโนลู” (Ekmeleddin Ihsanoglu) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชาวเตอร์เคีย อดีตเลขาธิการโอไอซีซึ่งมีสมาชิกชาติมุสลิมมากถึง 57 ประเทศ เกือบทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนา เขียนบทความไว้น่าสนใจ ระบุว่ามีหลายเหตุผลที่ใช้อธิบายความล้มเหลวดังกล่าว อิซานโนลูสรุปว่าเหตุผลสำคัญคือ “วัฒนธรรมการเรียนรู้” (Learning culture) จะเรียกว่าปรัชญาการเรียนรู้ก็ไม่ผิด นักวิชาการจากชาติกำลังพัฒนาได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ (Knowledges) จากประเทศพัฒนาจนหมดสิ้นนำไปใช้พัฒนาชาติตนเองทว่าสิ่งที่ไม่ได้นำกลับมาจากประเทศพัฒนาคือวัฒนธรรมการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการวิจัยและการซักถาม (Research and Inquiry) อิซานโนลูย้ำว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้เป็นต้นว่าการตั้งคำถามเพื่อค้นคว้าวิจัยต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมต่างหากที่เป็นหัวใจของการเรียนรู้ นักศึกษามักสนใจเฉพาะองค์ความรู้ โดยขาดการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ ละเลยวัฒนธรรมการซักถาม การโต้แย้งส่งผลให้ขาดการพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ การวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในประเทศจึงเกิดขึ้นไม่ได้ โดยสรุปคือวัฒนธรรมการเรียนรู้ต่างหากที่สำคัญไม่ใช่เพียงองค์ความรู้ที่สู้อุตส่าห์ไปร่ำเรียนมาคำอธิบายของอิซานโนลูคล้ายคลึงกับ “ทิม โอนีล” (Tim O’neill) นักประวัติศาสตร์ด้านยุคกลางชาวออสเตรเลียผู้ตอบคำถามในเว็บไซด์ Quora ว่าเหตุใดโลกอิสลามจึงถดถอยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งที่ยุคหนึ่งเมื่อพันปีมาแล้วโลกอิสลามเคยเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์กระทั่งกลายเป็นผู้ปลุกให้ชาติยุโรปตื่นจากการหลับใหลในยุคกลางก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่ายุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) และยุคเรืองปัญญา (Enlightenment)โอนีลตอบว่าสาเหตุที่โลกอิสลามถดถอยด้านวิทยาศาสตร์กระทั่งไม่สามารถพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าเป็นผลมาจากวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป แนวคิดไม่ต่างจากอิซานโนลู โดยเน้นว่าแต่เดิมโลกอิสลามในยุคอับบาสิยะฮฺ (ค.ศ.751-1258) มีระบบการเรียนรู้ที่เน้นวัฒนธรรม “อิจติฮาด” (الاجتهاد Ijtihad) ขยันหมั่นเพียร ทุ่มเท เสียสละ เพื่อพัฒนาคนด้านตะฮฺฆีฆ (تحقيق) กล้าคิดกล้าถาม กล้าโต้แย้ง ทว่าโลกอิสลามยุคหลังเกิดการสับสนระหว่างการเรียนรู้ด้านความเชื่อ ศรัทธา ภักดีกับการเรียนรู้วิทยาการด้านอื่น เป็นผลให้ละทิ้งวัฒนธรรมตะฮฺฆีฆ โดยเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบตัฆลีด (تقليد Taqlid) เลียนแบบและเชื่อฟัง วัฒนธรรมตัฆลีดนั้นจำเป็นต่อการเรียนรู้ด้านศรัทธาและภักดีหรือสาขาทางศาสนา ทว่ากับสาขาทางโลกจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง ความสับสนที่ว่านี้เป็นผลให้มุสลิมละทิ้งการเรียนรู้แบบโต้แย้ง ซักถาม คิดวิเคราะห์ กระทั่งสุดท้ายนำโลกอิสลามถอยกลับสู่แนวคิดพื้นฐาน ขาดการพัฒนาอันเคยเป็นหัวใจการเรียนรู้ในอิสลาม ซึ่งเน้นไปทั้งสองด้านนักประวัติศาสตร์ทั้งสองคนให้คำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ นักวิชาการในชาติกำลังพัฒนารวมทั้งชาติมุสลิมควรนำความเห็นนี้ไปคิดวิเคราะห์และวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมของตนเองให้ก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกระทั่งตามทันและแซงหน้าชาติพัฒนาไปได้ อิสลามสอนให้กล้าคิด กล้าฝัน สอนให้เป็นมือบน เป็นผู้ให้ หากไม่ก้าวหน้า ไม่เป็นผู้นำ จะเป็นมือบนเป็นผู้ให้ได้อย่างไร – หมายเหตุ ปรับปรุงจากบทความ พ.ศ.2563 ภาพจาก https://www.thescience faith .com/the-fall-of-islamic-science/ #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #วัฒนธรรมการเรียนรู้, #Ihsanoglu, #timoneill

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *