พลเมืองกัมมันตะกับตำบลเข้มแข็ง” (Active Citizen and Strong District) ปัจจัยหลักแห่งการพัฒนา

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2563 ผมได้รับมอบหมายจากประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมให้ไปร่วมงานเสวนาเรื่อง “พลเมืองกัมมันตะกับตำบลเข้มแข็ง” (Active Citizen and Strong District) จัดโดยคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และคณะกรรมาธิการพัฒาสังคมและกิจการเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (อพช.) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์ ได้ฟัง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ปาฐกถานำแล้ว ขอนำมาเสนอให้พวกเราได้อ่านกันหน่อยอาจารย์หมอประเวศท่านว่าพลเมืองกัมมันตะกับตำบลเข้มแข็งคือกรอบคิดสำคัญในการพัฒนา เริ่มด้วยพลังบวกเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าแทนการใช้พลังลบ พลังบวกคือ “การถักทอ” ขณะที่พลังลบคือ “การด่าทอ” จะผลักดันประเทศให้ก้าวข้ามความขัดแย้ง ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกโดยทุกคนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ จำเป็นต้องสร้างประชาชนให้เป็นพลเมืองที่ช่วยกันถักทอสังคม มิใช่คอยกล่าวตำหนิด่าทอ การพัฒนาประเทศมิใช่ทำกับคนจำนวน 1% ขณะที่คน 99% ไม่ได้ประโยชน์ ทำเช่นนี้ย่อมทำให้การพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ รวมทั้งศีลธรรมไม่ประสบความสำเร็จ อ.หมอประเวศยกตัวอย่างศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Robert D. Putnum เขียนไว้ในหนังสือ Making Democracy Work: Civic Traditions in Modern Italy สรุปว่าอิตาลีคือตัวอย่างคลาสสิกสำหรับการพัฒนา ประเทศนี้เป็นเหมือนสองประเทศในประเทศเดียว โดยทางตอนเหนือมีการพัฒนาในระดับสูง ขณะที่ทางตอนใต้ของประเทศมีพัฒนาการต่ำ ปัจจัยที่สร้างความแตกต่างในการพัฒนาที่ว่านี้คือพลเมืองกัมมันตะ คนทางภาคเหนือกระตือรือร้นมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ขณะที่คนทางภาคใต้สัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจ เกิดเป็นผู้มีอิทธิพล มาเฟียมากมาย การสร้างพลเมืองกัมมันตะจึงเป็นปัจจัยสำคัญ การสร้างตำบลเข้มแข็ง สร้างพลเมืองกัมมันตะจึงเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ความยากจน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นทิศทางหลักในการพัฒนาอ.หมอประเวศกล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์จำเป็นต้องสร้างจากฐาน ฐานที่กว้างย่อมทำให้เจดีย์แข็งแรงคงทนอยู่ได้ ประเทศไทยมักสร้างเจดีย์จากยอดทำให้เจดีย์พังลงมาบ่อย ตัวอย่างการทำเจดีย์จากยอด เช่น การสร้างเศรษฐกิจกับทุนใหญ่ การศึกษาที่เน้นระดับปริญญาตรีขึ้นไป ทำให้คนได้ปริญญา ทำเช่นนั้นโดยหวังว่ายอดใหญ่จะกระเด็นลงสู่เบื้องล่างจึงไม่สำเร็จ ประชาธิปไตยเป็นเช่นเดียวกันจำเป็นต้องสร้างจากฐาน หากสร้างประชาธิปไตยจากข้างบนย่อมไม่ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องสร้างประชาธิปไตยชุมชน ในขณะที่ระบบการเมือง เศรษฐกิจระดับนโยบายพยายามสร้างเจดีย์จากยอด พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และคนจำนวนหนึ่งทำงานกลับด้านโดยสร้างเจดีย์จากฐาน อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และลูกศิษย์คืออาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สร้างมูลนิธิ ใช้ พอช.เป็นเครื่องมือกระทั่งสร้างชุมชนท้องถิ่นที่มีผู้นำหลายแสนคน จะเพิ่มเป็นล้านคนในอนาคต ฐานของประเทศจึงเข้มแข็งขึ้นมาได้ เห็นได้จากความสำเร็จในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ฐานที่เข้มแข็งของชุมชนไม่ว่าจะเป็น อสส. อสม. หรือกลุ่มอื่นช่วยรักษาประเทศไทยไว้ นี่คือ The Best of Thailand ที่ทุกคนควรภูมิใจ สังคมข้างล่างเป็นเศรษฐกิจจริง (Real sector) ทำมาหากินจริง สร้างการอยู่ร่วมกันของคนที่มีศีลธรรมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศีลธรรมจึงมิใช่วิชาแต่เป็นระบบการดำเนินชีวิต ขณะที่การพัฒนาจากยอดด้านบนที่นำไปสู่อำนาจ ก่อให้เกิดมายาคติ การฉ้อฉล ไม่มีที่อยู่ของศีลธรรม ในการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ได้สร้างคนไทยที่ไม่รู้ความจริงของประเทศไทย การศึกษาจำเป็นต้องสร้างจากฐานความจริง การสร้างพลังพลเมืองที่ตื่นรู้และกัมมันตะสมควรเป็นวาระแห่งชาติ นำไปสู่หนทางที่ทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี เป้าหมายคือความเข้มแข็งใน 800 อำเภอ 8,000 ตำบล 80,000 ชุมชน เป้าหมายนำตำบลไปสู่ความเข้มแข็งมี 16 ประการ โดยทุกฝ่ายต้องสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกันดังนี้1. ทุกตำบลมีองค์กรชุมชนครบทุกชุมชน จะเรียกว่าสภาผู้นำชุมชนก็ได้ หากแต่ละหมู่บ้านสร้างผู้นำ 50 คน ทั้งประเทศจะสร้างผู้นำขึ้นได้ถึง 4 ล้านคน 2.ได้รับการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ทั้งเรื่องที่ดิน ภาษีอากร และอื่นๆ 3.มีความสามารถในการวิเคราะห์รายรับ-รายจ่าย โดยยกตัวอย่าง อบต.เขาคราม กระบี่ 4.มีเป้าหมายสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เศรษฐกิจใหม่ไม่ใช่ GDP เป็นตัววัดแต่ใช้ความสุขของคนในชุมชน โดยยกตัวอย่าง อำเภอบ้านแพ้ว สมุทรสาครที่มีสุขภาวะที่ดี 5.ผลิตอาหารเพื่อบริโภคอย่างพอเพียง เรื่องนี้คือเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ทำให้ทุกคนมีบ้านอยู่ มีข้าวกิน มีครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็ง 6. มีการขุดสระน้ำประจำครอบครัวที่สามารถเก็บน้ำได้ตลอดปี เมื่อมีสระน้ำสามารถปลดหนี้ ช่วยเก็บน้ำได้ทั้งปี ช่วยป้องกันน้ำแล้ง ช่วยสร้างงาน เป็น microsystem ในการสร้างเศรษฐกิจ7.สามารถจัดการวิสาหกิจชุมชน สร้างอุตสาหกรรมเล็ก สร้างการค้าขาย ช่วยให้หายจน 8.มีการฝึกอบรมกำลังคนของตำบลอย่างเต็มที่ เป็นเรื่องของ HRD ในตำบล พัฒนาวิชาสารพัดช่าง แม้กระทั่งการซ่อมสร้างถนนที่คนในตำบลซ่อมแซมเอง 9.มีการจัดการโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ มีการจัดการเรื่องถนนปลอดภัย 10.ทุกตำบลเป็นตำบลปลอดภัย นำไปสู่การท่องเที่ยว 11.พัฒนาคุณภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว ดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กกำพร้าอย่างทั่วถึง เกิดเป็นสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน 12.มีระบบสุขภาพตำบลที่ดูแลทุกคนประดุจญาติ มี รพ.สต. เสริมด้วยพยาบาลชุมชน 1 คน ผู้ช่วยพยาบาล 2 คน 13.ทำศูนย์การเรียนรู้ตำบล ห้องสมุดตำบล พิพิธภัณฑ์ตำบล ศูนย์ศิลปะ ศูนย์กีฬา และศูนย์การเรียนรู้พิเศษ โดยจัดการศึกษาให้แก่คนในชุมชน 14.ระบบความยุติธรรมชุมชน ให้เกิดความยุติธรรม คนจนมักไม่ได้รับความยุติธรรม 15.ระบบสื่อสารชุมชน และ 16.ทุกตำบลเป็นตำบลทำความดี ยกตัวอย่าง อบต.หัวง้ม อ.พาน จ.เชียงราย มีธนาคารความดี ฯลฯการดำเนินงานสร้างพลเมืองกัมมันตะ ตำบลเข้มแข็ง นับเป็น “มหาสันติวรบท” หนทางอันประเสริฐยิ่งใหญ่ที่นำไปสู่ความสงบ เป็นหนทางการใช้ปัญญานำการปฏิบัติ เกิดปัญญาร่วมในการสร้างประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านสรุปไว้อย่างนั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *