พลังงานจากมื้ออาหารช่วงเริ่มและละศีลอดสัมพันธ์กับการทำงานของอินสุลินและการใช้พลังงานในการละหมาด

มุสลิมถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอนโดยปฏิบัติตนตามแนวทางที่ท่านศาสดานบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) แนะนำไว้ โดยมื้อ “สะฮูร” (ساحور Sahur) หรือมื้อก่อนเช้า ท่านแนะนำให้รับประทานใกล้เวลาเริ่มถือศีลอด หรือเช้าตรู่ก่อนแสงทองจับขอบฟ้า เรียกว่าเวลา “ฟะญัร” (الفجر Fajr) ช่วงเวลาแคบๆนั้นเรียกว่า “อิมซาก” (إمساك Imsak) ซึ่งยาวเท่ากับการอ่านอัลกุรอาน 50 วรรค หรือประมาณ 10-15 นาที ท่านนบีแนะนำให้บริโภคสะฮูรใกล้เวลาหรือแม้แต่ในเวลาอิมซาก ท่านกล่าวว่าอาหารมื้อนี้คือ “บะรอกัต” (بركات Barakat) หรือคือพรที่ได้รับ ไม่แนะนำให้งด ท่านนบีรับประทานสะฮูรโดยเริ่มที่อินทผาลัมหรือน้ำ แนวทางการรับประทานอาหารของท่านนบี ดร.วาอิล อะบู เฮนดี (Wail Abu Hendi) แห่งมหาวิทยาลัย Zagazig อียิปต์ ระบุว่าท่านนบีรับประทานคำเล็ก เคี้ยวช้าๆ ไม่นานกว่า 20 นาทีต่อมื้อ ไม่มองใบหน้าผู้อื่นขณะรับประทานอาหาร ล้างมือและแปรงฟันก่อนและหลังมื้ออาหาร ในการบริโภคแต่ละมื้อท่านนบีแนะนำให้แบ่งกระเพาะเป็นสามส่วน โดยหนึ่งส่วนเป็นอาหาร หนึ่งส่วนเป็นน้ำ หนึ่งส่วนเป็นที่ว่าง ไม่แนะนำให้บริโภคจนอิ่มหรือเต็มกระเพาะอาหารมื้อละศีลอดหรือ “อิฟฏาร” (افطار Iftar) ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เริ่มด้วยอินทผาลัมสามผลหรือน้ำจากนั้นจึงละหมาดมักริบ ก่อนกลับมารับประทานอาหารละศีลอดจนเสร็จสิ้น นอกเหนือจากมื้อละศีลอดแล้ว ท่านนบีไม่บริโภคอาหารหลังจากนั้นกระทั่งถึงเวลาสะฮูรช่วงเช้า ตลอดเวลาทั้งวัน ท่านนบีมีกิจกรรมตามปกติ มิได้พักผ่อนเกินกว่าที่ปฏิบัติในเดือนอื่น สิ่งหนึ่งที่นับเป็นวิถีปฏิบัติของท่านคือการงีบหลับสั้นๆเวลากลางวันที่เรียกว่า (قَيْلُولَة Qailulah) ซึ่งงานวิจัยทางการแพทย์พบว่าเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ใกล้มื้อสะฮูรและอิฟฏาร ท่านนบีละหมาดศุบฮิและมัฆริบที่นับเป็นการทำสมาธิที่ประกอบด้วยการออกกำลังกาย ท่องจำอัลกุรอาน และกำหนดจิต ดร.จาเซ็ม รอมฎอน อัลกันดารี (Jasem Ramadan Alkandari) แห่งมหาวิทยาลัยคูเวต รายงานว่าการละหมาดใช้พลังงาน 4.71 กิโลแคลอรีต่อรอกะอัต คำแนะนำให้บริโภคทั้งมื้อสะฮูรและอิฟตารใกล้เวลาละหมาดมีผลเกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนอินสุลินและนาฬิกาชีวิต (Biological clock) ในสมอง โดยในเวลาที่มีแสง อินสุลินทำงานเร่งการใช้พลังงาน ในเวลาไม่มีแสง อินสุลินเร่งการสะสมพลังงานไว้ในรูปไขมัน การละหมาดศุบฮิแม้ทำในช่วงดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ทว่ามีแสงฟะญัร การละหมาดมักริบแม้ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ทว่ายังมีแสงอยู่ อินสุลินจึงนำพลังงานจากการย่อยอาหารไปใช้เป็นพลังงานโดยไม่นำไปสะสม ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ คำแนะนำของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) จึงสอดคล้องกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันในเรื่องการทำงานของอินสุลิน การได้รับพลังงานจากการบริโภคอาหาร และการใช้พลังงานจากการละหมาด อย่างน่ามหัศจรรย์ #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ถือศีลอดเดือนรอมฎอน, #อินสุลิน, #ละหมาด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *