ผึ้งกับกลไกการรักษาโรคของน้ำผึ้งดังที่อัลกุรอานระบุ

อัลกุรอานทั้งเล่มมี 114 บท 6,236 อายะฮฺ นักวิชาการด้านอัลกุรอานจัดแบ่งเป็นส่วนที่เรียกว่า “ญุซ” ได้ 30 ญุซ เพื่อความสะดวกในการอ่านให้จบใน 30 วัน สำหรับผม รอมฎอน ฮ.ศ.1445 ปีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2567 ผมตั้งใจอ่านอัลกุรอานวันละญุซ โดยผมอ่านถึงญุซที่ 14 ซูเราะฮฺที่ 16 “อันนะหฺลฺ” ที่หมายถึงผึ้ง ซึ่งวรรคหรืออายะฮฺที่ 114-117 กล่าวด้วยเรื่องอาหารฮาลาลและหะรอม เน้นตรงวรรคที่ 116-117 ว่า “พวกเจ้าอย่ากล่าวตามที่ลิ้นพวกเจ้ากล่าวเท็จขึ้นว่านี่เป็นที่อนุมัติและนี่เป็นที่ต้องห้าม เพื่อที่พวกเจ้าจะกล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺ แท้จริงบรรดาผู้กล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺนั้น พวกเขาจะไม่ได้รับความสำเร็จ ผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย (ในโลกดุนยานี้) และสำหรับพวกเขาคือการลงโทษอันเจ็บปวด (ในปรโลก)” วรรคนี้อัลลอฮฺทรงเตือนมนุษย์ว่าการระบุถึงอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ว่าฮาลาลหรือหะรอมจำเป็นต้องกระทำด้วยความรู้ มิใช่ด้วยความไม่รู้หรือขาดความยั้งคิดหรือโดยเห็นแก่ประโยชน์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่สามารถวิเคราะห์ได้แม่นยำว่าอาหารใดมีสิ่งต้องห้ามหรือหะรอมปนเปื้อนอยู่หรือไม่ในปริมาณมากน้อยเพียงใด เมื่อตรวจพบ ศวฮ.รีบแจ้งแก่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้ได้รับทราบ ศวฮ.ไม่มีหน้าที่ยืนยันว่าสิ่งใดฮาลาลหรือไม่ เพียงทำหน้าที่เตือนเรื่องการปนเปื้อนสิ่งหะรอมเท่านั้น ศวฮ.ดำเนินการในเรื่องนี้ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายซึ่งระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ศวฮ. ที่กำเนิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546นอกเหนือจากวรรคในอัลกุลอานที่กล่าวถึงข้างต้น อัลกุรอานบทอันนะหฺลฺ วรรคที่ 68-69 ยังกล่าวถึงผึ้งด้วยว่า “และพระเจ้าของพวกเจ้า (อัลลอฮฺ) ทรงดลใจแก่ผึ้งว่า จงสร้างรังของพวกเจ้าในภูเขา ต้นไม้ และตามที่พวกเขาทำร้านขึ้น แล้วจงกินจากผลไม้ทั้งหลาย และจงดำเนินการตามทางของพระเจ้าของเจ้าโดยสะดวกสบาย มีเครื่องดื่มที่มีสีสันต่างๆออกมาจากท้องของมัน ในนั้นมีสิ่งบำบัดแก่ปวงมนุษย์แท้จริงในการนั้น แน่นอนย่อมเป็นสัญญาณแก่กลุ่มชนผู้ตรึกตรอง” อัลกุรอานระบุว่าน้ำผึ้งจากท้องของผึ้งมีสรรพคุณทางยาสามารถใช้ในการรักษาโรคได้ น้ำผึ้งมีความชื้นและความหนืดพอเหมาะต่อการใช้เป็นเกราะป้องกันการติดเชื้อ ช่วยกระตุ้นกลไกการสร้างภูมิคุ้มกันใช้ในการซ่อมแซมบาดแผล ในวงการแพทย์พบว่าฤทธิ์ต้านจุลชีพในน้ำผึ้งเกิดจากไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่สร้างผ่านเอนไซม์ ในกรณีที่ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ถูกยับยั้ง ในน้ำผึ้งยังมีส่วนที่ไม่ใช้เปอร์ออกไซด์โดยเกี่ยวข้องกับระดับ pH ของน้ำผึ้งที่ต่ำและมีปริมาณน้ำตาลสูง (ออสโมลาริตีสูง) กลไกเหล่านี้ขัดขวางการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ช่างน่าแปลกใจที่อัลกุรอานกล่าวถึงเรื่องราวเหล่านี้ไว้เมื่อนานกว่า 1,400 ปีมาแล้ว #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #อัลกุรอานว่าด้วยผึ้ง, #น้ำผึ้ง, #ฮาลาลหะรอม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *