บริโภคโปรตีนหลากหลายเลี่ยงปัญหาความดันโลหิต

ความดันโลหิตสูงกลายเป็นปัญหาใหญ่ทางสุขภาพของประชากรทั้งโลกไปแล้ว ลองติดตามศึกษาในประชากรของประเทศที่เก็บข้อมูลสุขภาพได้ดี เช่น สหรัฐอเมริกาก็คงเห็น โดยพบว่าครึ่งหนึ่งของประชากรมีปัญหาความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคนี้นำไปสู่โรคอื่นๆอีกหลายโรค อย่างเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดในสมองตีบและแตก โรคตา โรคไต รวมถึงโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดอีกหลายโรค ดังนั้น หากอยากให้ประชากรมีสุขภาพดี โดยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากร จำเป็นต้องหาหนทางลดอุบัติการณ์โรคความดันโลหิตสูงในประชากรลงให้ได้ เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก การศึกษาวิจัยด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องในประชากรขนาดใหญ่จึงเป็นเรื่องที่ทำกันในหลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทย โดยในที่นี้ขอยกตัวอย่างในประเทศจีนในงานการศึกษาวิจัยด้านสุขภาพในประชากรทำกันในเมืองกวางโจว ประเทศจีน นานเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ถึง ค.ศ.2015 โดยทีมวิจัยจาก Southern Medical University ติดตามศึกษาเรื่องความดันโลหิตสูงกับการบริโภคอาหารในประชากร 12,200 คน ได้ผลสำรวจออกมาน่าสนใจ ทีมวิจัยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคโปรตีนจากแหล่งต่างๆ 8 แหล่ง ได้แก่ โปรตีนจากสารพัดข้าวเต็มเมล็ด ทั้งข้าวกล้อง (whole grains) และข้าวขัดสี (refined grains) เนื้อแดงทั้งเนื้อปรุงหรือผ่านกระบวนการ (processed red meat) และเนื้อสด (unprocessed red meat) สัตว์ปีก (poultry) ปลา (fish) ไข่ (egg) ถั่ว (legumes) การกำหนดค่าความดันโลหิตสูงความดันโลหิตตัวบนกำหนดไว้ที่ 140 มม.ปรอทหรือมากกว่า ตัวล่างที่ 90 มม.ปรอทหรือต่ำกว่า ผลการวิเคราะห์พบว่าระหว่างการศึกษา พบว่าอาสาสมัครที่เข้าร่วมงานวิจัยจำนวนมากกว่า 35% ของ 12,200 คน พัฒนาโรคความดันโลหิตสูงขึ้น สิ่งที่พบคือหากอาสาสมัครบริโภคโปรตีนจากแหล่งต่างๆหลายชนิดผสมผสานกัน มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงน้อยกว่าผู้ที่เลือกบริโภคโปรตีนเฉพาะบางแหล่งหรือบริโภคโปรตีนน้อยแหล่งถึง 66% สรุปเอาเป็นว่ายิ่งได้รับโปรตีนจากหลากหลายแหล่ง ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงน้อยปริมาณโปรตีนที่บริโภคไม่ใช่ว่าบริโภคมากแล้วจะดี ซึ่งทางสมาคมหัวใจอเมริกันแนะนำให้รับประทานโปรตีน 1-2 ส่วนบริโภค หรือ 5.5 ออนซ์หรือ 156 กรัมต่อวัน โดยพบว่ากลุ่มที่บริโภคโปรตีนสูงยังเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงง่ายพอๆกับกลุ่มที่บริโภคโปรตีนน้อย การบริโภคโปรตีนจึงควรอยู่ในระดับพอเหมาะ และที่ระดับนี้หากเลือกบริโภคโปรตีนจากหลายแหล่งผสมผสานกันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตลงได้ งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Hypertension เดือนมีนาคม ค.ศ.2022 ในนาม Chun Zhou และคณะ หากสนใจลองไปติดตามอ่านกันได้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #โปรตีนกับความดันโลหิตสูง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *