น้ำตาล..ความจริงที่บอกไม่หมด

ย้อนเวลากลับไปสักยี่สิบปี ผู้ผลิตน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ไม่เคยยอมรับเลยว่าผลิตภัณฑ์ของตนก่อปัญหาโรคอ้วนและเบาหวานในประชากร กระทั่งต้น ค.ศ.2013 นั่นแหละจึงกล้าออกมารับว่าน้ำอัดลมคือสาเหตุสำคัญของโรคอ้วน ยอมรับได้อย่างนี้จึงต้องชื่นชม ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาของน้ำตาลให้มากขึ้นด้วย หลายคนยังเข้าใจว่าพลังงาน 1 แคลอรีคือ 1 แคลอรีไม่มีวันเป็นอื่น ยังเข้าใจว่าน้ำตาลหนึ่งกรัมให้พลังงานเท่ากับคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนที่มีน้ำหนักเท่าๆกันนั่นคือ 1 กรัมให้พลังงานประมาณ 4 แคลอรี และให้พลังงานน้อยกว่าไขมันประมาณสองเท่า แต่เอาเข้าจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น หนึ่งที่ว่านั้นมันไม่ใช่หนึ่ง ในทางเมแทบอลิซึม มีตัวแปรอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั่นคือฮอร์โมน น้ำตาลให้ผลต่อฮอร์โมนแตกต่างจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน การกินน้ำตาลในรูปของ #ซูโครส (Sucrose) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง #ไซรัปฟรุคโตส (#high fructose corn syrup) ทำให้น้ำตาลกลูโคสและฟรุคโตสเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ปริมาณฟรุคโตสและกลูโคสที่เพิ่มขึ้นมากในเลือดส่งผลต่อการทำงานของโปรตีนตัวรับฟรุคโตส (fructose receptor protein) ในสมองส่วนไฮโปธาลามัส หากได้รับฟรุคโตสสูงบ่อยๆย่อมก่อให้เกิดภาวะรบกวนการทำงานของฮอร์โมนอิ่มคือ #เล็พติน ทำให้ร่างกายถูกลวงว่ายังไม่อิ่ม ยิ่งกินน้ำตาลหรือฟรุคโตสมากเท่าไหร่ก็ยิ่งโหยหาน้ำตาลมากขึ้นทำให้ต้องการอาหารหวานเพิ่มขึ้น หนึ่งแคลอรีของน้ำตาลฟรุคโตสจึงตามมาด้วยสอง สาม สี่ไม่จบสิ้นโดยสรุปคือการกินน้ำตาลและไซรัปฟรุคโตสหนึ่งกรัมให้ผลไม่เหมือนการกินคาร์โบไฮเดรตประเภทแป้งหนึ่งกรัม เพราะการกินแป้งเมื่อถึงเวลาอิ่มร่างกายก็สั่งให้หยุดกินโดยทางเดินอาหารสร้างฮอร์โมนเล็พตินและฮอร์โมนอื่นๆอีกตัวสองตัวมาทำหน้าที่บัญชาการให้สมองออกคำสั่งให้หยุดกิน ในขณะที่น้ำตาลและไซรัปฟรุคโตสสร้างความสับสนในคำสั่งที่ส่งไปยังสมอง แทนที่จะสั่งให้หยุดกินกลับไม่ยอมสั่ง คนที่นิยมอาหารหวานจากน้ำตาลและไซรัปฟรุคโตสเช่นที่พบในน้ำอัดลม ยิ่งกินหวานมากก็ยิ่งโหยน้ำตาลมากขึ้น หนึ่งแคลอรีของน้ำตาลและไซรัปฟรุคโตสจึงไม่เท่ากับหนึ่งแคลอรีจากคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน สิ่งที่ติดตามมาคือ #ภาวะดื้อต่ออินสุลิน และ #ภาวะดื้อต่อเล็พติน เกิดโรคอ้วนและเบาหวานตามมา อีกประเด็นหนึ่งที่ควรเข้าใจให้มากขึ้นคือการบริโภคหวานโดยการใช้ #น้ำตาลเทียม (#artificial sweeteners) อย่างเช่นแอสปาร์เทมหรือแซคคารินหรือสารทดแทนความหวานตัวอื่นสมควรต้องระวังพร้อมกันไปด้วย น้ำตาลเทียมไม่ให้พลังงานเลยก็จริงแต่มีรายงานวิจัยว่าโมเลกุลของน้ำตาลเทียมรบกวนการทำงานของโปรตีนตัวรับฮอร์โมนในสมองส่งผลให้สมองไม่ออกคำสั่งเรื่องอิ่ม น้ำตาลเทียมจึงส่งผลให้ร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว กินน้ำตาลเทียมแล้วอย่าเข้าใจว่าน้ำหนักตัวจะลด เพราะอาจจะเจอปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มจากการโหยน้ำตาลมากขึ้นก็ได้ จึงต้องระวัง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *