น้ำตาลเทียมกับความเสี่ยงมะเร็ง

ดูเหมือน “น้ำตาล” (sugars) ไม่ว่าแท้หรือเทียมต่างสร้างปัญหาให้กับสุขภาพได้ทั้งนั้น น้ำตาลแท้ก่อโรคอ้วนอย่างที่รู้กันอยู่ ส่วนน้ำตาลเทียมเคยมีรายงานนานมาแล้วว่าอาจก่อปัญหามะเร็ง มาวันนี้รายงานที่ออกมาใหม่ยังแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้น้ำตาลเทียมกับการเกิดมะเร็งไม่เปลี่ยนแปลง กลายเป็นว่าคนที่หนีน้ำตาลแท้เพราะกลัวโรคอ้วน อาจเจอปัญหามะเร็งหากบริโภคน้ำตาลเทียมบางประเภท กลายเป็นหนีเสือปะจระเข้ ไปซะอย่างนั้นน้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวาน ที่นิยมใช้ทดแทนน้ำตาลในอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ว่าน้ำอัดลม รวมถึงสารพัดอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มีอยู่หลายชนิด ที่นิยมกันมากอย่างเช่น แอสพาร์เทม (Aspartame) แซคคาริน (Saccharin) ซูคราโลส (Sucralose) ไซคลาเมต (Cyclamate) อะซีซัลเฟม โปตัสเซียม (Acesulfame potasssium) หรืออะซีซัลเฟม-เค (Ace K) สเตเวีย (Stevia) หรือหญ้าหวาน งานวิจัยจากวารสาร PLOS Medicine วันที่ 24 มีนาคม 2022 เป็นงานการศึกษาของ Charlotte Debras และทีมงานแห่งสถาบันวิจัยสุขภาพและการแพทย์แห่งชาติฝรั่งเศส (Inserm) และมหาวิทยาลัย Sorbonne Paris Nord ประเทศฝรั่งเศส ให้ข้อมูลว่าน้ำตาลเทียมบางชนิดสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งที่เพิ่มขึ้น ขอให้ระวังกันหน่อย กลายเป็นเรื่องล่ะทีนี้ในงานวิจัย ทีมงานทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากชาวฝรั่งเศสวัยผู้ใหญ่จำนวน 102,865 คนที่เข้าร่วมในการศึกษา NutriNet-Santé เพื่อประเมินศักยภาพในการก่อมะเร็งของสารให้ความหวานเทียมหรือน้ำตาลเทียม โดย การศึกษา NutriNet-Santé ที่ว่านี้เป็นการศึกษาแบบต่อเนื่องทางเว็บ เริ่มใน ค.ศ.2009 ผู้เข้าร่วมลงทะเบียนรายงานประวัติทางการแพทย์ ให้ข้อมูลทางสังคมวิทยา อาหาร วิถีชีวิต และข้อมูลสุขภาพด้วยตนเอง นักวิจัยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคน้ำตาลเทียม รวบรวมข้อมูลการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ทำการวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคน้ำตาลเทียมกับความเสี่ยงต่อมะเร็ง มีการปรับตัวแปรต่างๆ เพื่อลดอคติในทางวิชาการ สุดท้าย นักวิจัยพบว่าผู้ที่บริโภคน้ำตาลเทียมในปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แอสพาเทม” และ “อะซีซัลเฟม-เค” มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งโดยรวมสูงกว่าผู้ที่ไม่บริโภค (ในอัตราส่วนความเสี่ยง 1.13, ช่วงความเชื่อมั่น 95% 1.03 ถึง 1.25) โดยเสี่ยงสูงขึ้นสำหรับมะเร็งเต้านมและมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่ว่านี้คงต้องศึกษาเชิงลึกอีกครั้ง แม้ไม่มั่นใจถึงร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ทีมวิจัยสรุปในทำนองว่าไม่แนะนำให้ใช้น้ำตาลเทียมเป็นทางเลือก น้ำตาลเทียมบางชนิดยังไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพสักเท่าไหร่ ว่ากันอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #น้ำตาลเทียมกับมะเร็ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *