นิทานรอมฎอน – สีสันและวัฒนธรรมในรอมฎอน ตอนที่ 4

มาฮีบิซ (mheibes) – อิรักแม้แทบจะล่มสลายไปกับสงครามภายนอกและภายในประเทศยาวนานหลายสิบปีทว่าวิถีชีวิตของผู้คนก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนไปจากอดีต ทุกเดือนรอมฎอนยาวนานหลายร้อยปี หลังละศีลอด ผู้ชายในชุมชนไม่ว่าจะวัยไหนพากันมารวมเล่นเกมที่เรียกว่า “มาฮีบิซ”( محيبسMheibes) เล่นกันง่ายๆโดยแบ่งเป็นสองฝ่ายจำนวนคนตั้งแต่ 40-250 คน หัวหน้ากลุ่มแรกนำเอาวงแหวนใส่ในมือพันด้วยผ้าห่มแล้วเอาไปใส่ไว้ในมือลูกทีมที่นั่งเรียงแถวกำมือวางบนตัก หัวหน้าทีมกลุ่มหลังต้องหาให้พบว่าแหวนอยู่ในมือของใครในกลุ่มแรก เป็นเรื่องทางจิตวิทยาที่ต้องใช้วิธีสังเกตตั้งแต่การซ่อนแหวน พิรุธที่ซ่อนอยู่บนใบหน้าของลูกทีมฝ่ายแรก แหวนอยู่ในมือใครและมือข้างไหน หากหาพบการเฉลิมฉลองของทีมสร้างความสนุกสนานอย่างมากให้กับเกมมาฮีบิซ เกมชาวบ้านที่ว่านี้ห่างหายไปนานหลายปีระหว่างสงคราม เวลานี้คืนกลับมาแล้ว และรัฐบาลเริ่มเข้าไปสนับสนุนเพื่อที่จะคงวัฒนธรรมด้านนี้ไว้ ซึ่งหาได้ไม่ง่ายในกลุ่มประเทศอาหรับ#เซเฮรีวาลาส (Seheriwalas) – วัฒนธรรมนี้บางครั้งเรียกว่า “โซฮฺรีดารสฺ” (Zohridaars) เกิดขึ้นในอินเดียหลายร้อยปีมาแล้วตั้งแต่ครั้งราชวงศ์โมกุลหรือมองโกลปกครองอินเดีย ปัจจุบันพบได้เฉพาะในเขตนิวเดลีเก่าของอินเดียเท่านั้น แทบไม่พบเลยในพื้นที่อื่น และนับวันวัฒนธรรมนี้จะค่อยๆสูญหายไปตามกาลเวลา หาคนที่จะสืบต่อได้ยากเพราะเป็นเรื่องของใจรักและใจอาสา ในช่วงเดือนรอมฎอน ทุกเช้าก่อนเวลาการรับประทานอาหารสะฮูรก่อนเช้า จะมีชายอาสาที่เรียกว่า “เซเฮรีวาลาส” (Seheriwalas) เดินไปตามถนนแล้วตะโกนเสียงดังกล่าวถึงพระนามอัลลอฮฺและศาสดามุฮัมมัด ใช้เสียงนี้ทำหน้าที่นาฬิกาปลุกเรียกให้คนในชุมชนตื่นขึ้นมาเตรียมมื้ออาหารสะฮูรเพื่อการถือศีลอดในเช้าวันนั้น ช่วงเวลาที่ชายอาสาเริ่มร้องเรียกคือตีสองครึ่ง ระหว่างนั้นก็ใช้ไม่หรือหวายเคาะประตูบ้านไปทีละหลัง วิธีการไม่มีอะไรซับซ้อน ชาวบ้านตื่นมาแล้วก็เริ่มหุงหาอาหาร บางบ้านอาจให้สินน้ำใจตอบแทนแก่เซเฮรีวาลาสบ้างเล็กๆน้อยๆเป็นเงินบ้างอาหารบ้าง เซเฮรีวาลาสรับบ้างไม่รับบ้าง การเดินอาสาปลุกชาวบ้านเช่นนี้บางครั้งทำกันหลายคน ส่วนใหญ่จะทำคนเดียว#เพลงกลองโลดรา (Lodra) – ในอดีตนานนับพันปี ชนโรมันจากคาบสมุทรอิตาลีปกครองยุโรปกว้างขวางตั้งแต่เกาะอังกฤษไปจนถึงรัสเซีย ทิ้งลูกหลานไว้สืบเชื้อสายจนกระทั่งปัจจุบัน โรมันเข้าปกครองคาบสมุทรบอลข่านยาวนานกระทั่งทำให้ผู้คนแถบนี้เรียกตนเองว่าชาวโรมัน ซึ่งปัจจุบันพบมากในประเทศโรมาเนีย ไล่ไปจนถึงอัลบาเนีย โคโซโว มาเซโดเนีย เมื่อจักรวรรดิออตโตมันหรืออุสมานียะฮฺเข้าปกครองคาบสมุทรบอลข่านในเวลาต่อมา ชนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามซึ่งพบมากในประเทศอัลบาเนียและโคโซโวเรียกตนเองว่าโรมันมุสลิม ช่วงเดือนรอมฎอนในคาบสมุทรบอลข่านบริเวณชุมชนของโรมันมุสลิม ยังพบประเพณีการร้องเพลงไปกับกลองสองหน้าแบบโรมาเนียที่เรียกว่า “โลดรา” (Lodra) โดยช่วงอาหารอิฟตาร คนโรมันมุสลิมในอัลบาเนียจะเดินร้องเพลงกันเป็นกลุ่มพร้อมตีกลองโลดราไปตามบ้านเรือน โชคดีหน่อยเพื่อนบ้านจะชวนให้มาละศีลอดด้วยกัน นี่คือความงดงามของรอมฎอนในอัลบาเนีย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลันhttps://www.youtube.com/watch?v=0tKPwFmTyOo

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *