นิทานรอมฎอน – สีสันและวัฒนธรรมในรอมฎอน ตอนที่ 2

ชานราต (Chaand Raat) – สนุกที่สุดในบรรดาเทศกาลเดือนรอมฎอนเห็นทีจะเป็นในภูมิภาคเอเชียใต้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินเดีย ปากีสถานหรือบังคลาเทศ คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนก่อนเช้าวันอีดิลฟิตริที่เรียกกันตามภาษาอังกฤษว่า Idil Fitri Eve หลังการประกาศวันอิดิลฟิตริ มุสลิมในหลายพื้นที่ของดินแดนแถบนี้แทบไม่ต้องหลับต้องนอน พากันออกนอกบ้านเพื่อสนุกสนานไปกับ “ชานราต” จนใกล้เช้าของวันอิดิลฟิตริ จะเรียกว่าเทศกาลก็คงได้ เรียกว่าเทศกาลต้อนรับอิดิลฟิตริก็แล้วกัน ร้านค้าตกแต่งกันสารพัดสีสัน ประดับไฟกันครึกครื้น สาวชวนหนุ่มออกไปเที่ยวหาซื้อกำไลมือสีสวย รวมทั้งเสื้อผ้า สาวจำนวนไม่น้อยออกไปหาร้านเฮนน่าหรือสีสมุนไพรเขียนให้เป็นลวดลายสวยงามทั้งที่มือ แขนและเท้า มีการส่งสาส์นอวยพรในรูปของการ์ดแสนสวยและทางออนไลน์ ใครคิดจะไปเที่ยวประเทศแถบเอเชียใต้หากเลือกวันสุดท้ายของรอมฎอนได้ร่วมเทศกาลชานราตก็อยากให้ไป รับรองจะได้บรรยากาศอีกแบบหนึ่งที่จะต้องจดจำกันไปนาน ว่ากันอย่างนั้น #นาฟาร (Nafar) – คำๆนี้หมายถึงคนที่ทำหน้าที่ร้องเรียกให้ผู้คนตื่นมากินข้าวสะฮูรมื้อก่อนเช้าและละหมาดซุบฮิทุกวันถือศีลอดเดือนรอมฎอน ประเพณีนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคศอฮาบะฮฺหลังการจากไปของท่านนบีมุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในศตวรรษที่ 7 กระทั่งแพร่ไปทั่วอาณาจักรอิสลาม ปัจจุบันอาจเห็นประเพณีนี้เฉพาะในประเทศโมรอคโคเท่านั้น ไม่แน่ใจว่ายังมีในประเทศอาหรับอื่นหรือไม่ โดยช่วงเวลาประมาณตีสามก่อนเข้าเวลาเริ่มถือศีลอดที่เรียกว่าเวลาอิมซาก ชายอาหรับสวมเสื้อผ้า รองเท้าและหมวกโบราณ เรียกคนๆนี้ว่า “นาฟาร” จะเดินไปตามถนนย่านชุมชนแล้วร้องเพลงพร้อมทั้งเป่าแตรปลุกผู้คนให้ตื่นขึ้นมารับประทานอาหารสะฮูร เป่าแตะอีกครั้งเมื่อเข้าเวลาละหมาดซุบฮิเวลาก่อนเช้า นาฟารเหล่านี้ทางชุมชนเป็นคนเลือกจากเด็กหนุ่มที่มีประวัติดีให้เป็นอาสาสมัคร กระทั่งถึงคืนสุดท้ายที่เข้าวันอิดิลฟิตริ ชาวบ้านแต่ละชุมชนพากันตอบแทนนาฟารประจำชุมชนของตนด้วยของขวัญและคำขอบคุณ#มานไกเกอร์ (Maan Kikers) – คำๆนี้เป็นภาษาอัฟริกันซึ่งเป็นภาษาผสมระหว่างภาษาดัทช์กับภาษาซูลูในประเทศอัฟริกาใต้แปลว่าผู้เฝ้าดูดวงจันทร์ ในโลกอิสลามทั่วทั้งโลก ค่ำสุดท้ายของเดือนรอมฎอนจะมีการเฝ้าดูจันทร์เสี้ยวเพื่อประกาศวันที่ 1 เดือนเชาวาลและวันอิดิลฟิตริ ในอัฟริกาใต้ นักวิชาการศาสนาอิสลามจะไปรวมกันที่ชายฝั่งเมืองเคปทาวน์เพื่อเฝ้าดูดวงจันทร์ร่วมกัน หากมีผู้ใดเห็นจันทร์เสี้ยวด้วยตาเปล่าต้องแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นมานไกเกอร์ให้ทำการประกาศ เหตุการณ์นี้คล้ายในประเทศไทยที่ทุกมัสยิดทำหน้าที่ดูดวงจันทร์ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 มาตรา 35 (11) และผู้ประกาศการเห็นดวงจันทร์คือจุฬาราชมนตรีเป็นไป มาตราที่ 8 (3) จะว่าจุฬาราชมนตรีคือมานไกเกอร์ของประเทศไทยก็ได้ ไม่น่าจะผิด #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *