นบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) พลังละมุนแห่งอิสลาม ตอนที่ 23 งีบหลับกลางวันในวัฒนธรรมต่างๆ

อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่าการงีบหลับกลางวันที่เรียกในภาษาอาหรับว่า “ฆอยลูละฮฺ” ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ปฏิบัติเป็นปกติกระทั่งเป็นสุนนะฮฺหรือจริยวัตรของท่าน ในทางวิชาการทางการแพทย์อธิบายประโยชน์ของการงีบหลับกลางวันว่าช่วยให้ท่านนบีกระฉับกระเฉงในการปฏิบัติศาสนกิจยามค่ำคืนนั่นคือการละหมาดตะฮัจยุตหรือกิลามุลลัยลฺ ทั้งเสริมคุณภาพการหลับในยามค่ำคืนได้อีก ในส่วนการเพิ่มพูนสุขภาพและการป้องกันโรค มีรายงานทางการแพทย์มากมายที่พบว่าการงีบหลับกลางวันช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะสมองวาย (Stroke) ลดภาวะซึมเศร้าและการล้มของผู้สูงอายุ เพิ่มการทำงานของสมองและประสาท ลดความเสี่ยงของเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ เพิ่มประสิทธิภาพทางกายของนักกีฬา ฯลฯการงีบหลับกลางวันในทางวิชาการทั่วไป เรียกว่า “ซีเอสตา” (Siesta) ซึ่งใช้ในภาษาสเปนและอังกฤษโดยแปลงคำมาจากภาษาละติน มิได้นิยมปฏิบัติกันเฉพาะในทะเลทรายของอาระเบียหรือในหมู่ชนอาหรับเท่านั้น ยังสามารถพบประเพณีการงีบหลับกลางวันเช่นนี้ในหลายหมู่ชน ทั้งในเขตร้อน เขตอบอุ่น หรือแม้กระทั่งเขตหนาว ที่มีรายงานอยู่มากคือแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนครอบคลุมพื้นที่ยุโรปใต้ อัฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง หรือในพื้นที่เขตอบอุ่นอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงดินแดนเอเชียใต้ เช่น ชมพูทวีป วัฒนธรรมการงีบหลับกลางวัน ปฏิบัติกันทั่วไปในทุกกลุ่มประชากรของจีนแผ่นดินใหญ่ เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า “วูฉุย” (Wushui) ที่หมายถึงการงีบหลับยามบ่าย หากเป็นการงีบหลับตอนเที่ยงวันเรียกว่า “วูเจียว” (Wujiao) ซึ่งปฏิบัติกันเป็นปกติสำหรับนักเรียน นักศึกษา และคนงาน โดยวูเจียวหรือการนอนตอนเที่ยง เชื่อกันว่าช่วยเสริมประสิทธิภาพการเรียนและการทำงาน ช่วยเพิ่มสมาธิและความกระฉับกระเฉง การเห็นคนงานหรือนักเรียนนักศึกษานอนหลับที่โต๊ะเรียน โต๊ะทำงาน หรือหลับบนที่นอนที่จัดเตรียมขึ้นหลังเวลาอาหารเที่ยงโดยใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมงถือเป็นเรื่องปกติ บางพื้นที่มีสถานที่เช่าเพื่องีบหลับตอนเที่ยงเสียด้วยซ้ำการงีบหลับในเวลางานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเที่ยงพบมากขึ้นในญี่ปุ่นแม้มิใช่ประเทศในเขตร้อน โดยเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “อิเนมูริ” (Inemuri) นิยมนั่งหลับโดยซบบนหนังสือ โต๊ะทำงาน หรือบนกระเป๋า การนอนบนพื้นถือเป็นข้อห้าม อิเนมูรินับเป็นการพักผ่อนร่างกายและจิตใจก่อนเริ่มงานอีกครั้ง เป็นที่นิยมมากขึ้นในระยะหลังโดยงีบหลับในห้องทำงานหรือห้องเรียนซึ่งมีความอบอุ่น ส่วนในพื้นที่หนาวยิ่งกว่าญี่ปุ่นและจีนทางตอนเหนือคือในประเทศไอซ์แลนด์ทางยุโรปเหนือ มีการฝึกให้คนไอซ์แลนด์งีบหลับในพื้นที่ด้านนอกอาคารซึ่งมีอากาศหนาว เรียกกันว่า “อูตี” (Uti) ซึ่งกลายเป็นวิถีปฏิบัติในหลายพื้นที่ของยุโรปเหนือไปแล้ว #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #การงีบหลับกลางวัน, #พลังละมุนแห่งอิสลาม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *