ไม่อยากอ้วนไม่อยากเป็นเบาหวานอย่ากินดึก

รู้กันมานานว่าการกินอาหารยามดึกทำให้อ้วนง่าย เมื่ออ้วนแล้วย่อมเสี่ยงต่อเบาหวานรวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด ความอ้วนจึงสร้างปัญหาได้สารพัด ดีต่อสุขภาพคืออย่าให้อ้วน เหตุใดการกินยามดึกจึงทำให้อ้วนง่าย นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มพยายามหาคำตอบ ใน ค.ศ.2013 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ เทนเนสซี สหรัฐอเมริกา นำโดย Shu-gun Shi ทำการศึกษาในหนูทดลองและตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Cirr Biol สรุปได้สำหรับมนุษย์ว่าการกินยามดึกส่งผลต่อการทำงานของนาฬิกาชีวิต (Biological clock) ในสมอง ซึ่งควบคุมการทำงานของฮอร์โมนอินสุลินในทางอ้อม เวลากลางวัน อินสุลินมีผลให้น้ำตาลกลูโคสเปลี่ยนเป็นพลังงาน ขณะที่กลางคืน อินสุลินส่งผลให้ร่างกายนำพลังงานไปสะสมเป็นไขมันได้มากกว่า กินดึกจึงอ้วนง่าย สรุปกันอย่างนั้นรายงานวิจัยข้างต้นทีมวิจัยหลายกลุ่มยังไม่คิดว่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด เหตุนี้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น อิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา นำโดย ดร.เชลซี เฮพเลอร์ (Chelsea Hepler) ภายใต้การดูแลของศาสตราจารย์ ดร.โจเซฟ บาสส์ (Joseph T. Bass) จึงทำการศึกษาในหนูทดลองลึกลงไปในรายละเอียดของเมแทบอลิซึม ได้ผลนำมาตีพิมพ์ในวารสารระดับนำคือ Science ปลายเดือนตุลาคม 2022 เนื้อหาน่าสนใจจึงขอนำมาอธิบายให้พวกเราได้รับรู้กันสักหน่อย เพื่อที่จะตอบว่าเหตุใดการกินอาหารยามดึกจึงทำให้อ้วนได้ง่ายนักทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นพบกลไกทางเมแทบอลิซึมเป็นคล้ายกับสิ่งที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์เคยพบ นั่นคือความอ้วนจากการกินอาหารยามดึกเกี่ยวข้องกับนาฬิกาชีวิตและฮอร์โมนอินสุลิน เพียงแต่รายละเอียดของกลไกแตกต่างกันพอสมควร ทีมนอร์ทเวสเทิร์นพบว่าเมแทบอลิซึมที่เกี่ยวข้องจริงๆอยู่ที่กลไกการสร้างความร้อนของกลุ่มเซลล์ไขมัน (Adipocyte thermogenesis) อันเป็นผลมาจากวงจรของสารครีเอทีน (Creatine) หรือเอทีพี (ATP) ซึ่งเป็นสารพลังงาน ยามกลางวันสำหรับมนุษย์ เมื่อเซลล์ไขมันได้รับพลังงาน การสร้างความร้อนเป็นไปอย่างปกติ ทว่ายามกลางคืนการสร้างความร้อนลดลง จึงเหลือพลังงานไปสะสมไว้ในรูปไขมัน อีกส่วนหนึ่งของคำตอบที่พบคือการกินอาหารผิดเวลา ดังเช่น การกินยามดึกแทนที่จะกินในช่วงกลางวันที่มีแสง การทำงานของนาฬิกาชีวิตเกิดความปั่นป่วน ผลคือสมดุลพลังงาน (Energy balance) เกิดความผิดปกติ เหนี่ยวนำให้กินอาหารมากขึ้น ร่างกายได้รับพลังงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพลังงานเปลี่ยนเป็นความร้อนได้น้อยลง เหลือพลังงานไปสะสมเป็นไขมันมากขึ้น ผู้ที่กินอาหารยามดึกจึงอ้วนง่าย ทีมวิจัยทีมนี้เคยพบมาก่อนหน้านี้ว่าผู้ป่วยที่ได้รับสารอาหารทางสายยางยามดึกอ้วนและเป็นเบาหวานง่ายกว่าผู้ที่ได้รับอาหารทางสายยางเวลากลางวัน การกินยามดึกจึงทำให้อ้วน มีรายละเอียดทางเมแทบอลิซึมค่อนข้างมาก ขออธิบายกลไกคร่าวๆไว้ตามนี้ก็แล้วกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #กินดึกอ้วนง่าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *