นบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) พลังละมุนแห่งอิสลาม ตอนที่ 3 ชนะด้วยเมตตา มิใช่ด้วยดาบ

ท่านนบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) เป็นชาวอาหรับเกิดในตระกูลกุเรซ ปีช้าง ตรงกับ ค.ศ.570 ณ มักกะฮฺเมืองกลางทะเลทรายอาระเบีย กำพร้าบิดาตั้งแต่ก่อนถือกำเนิด ได้รับการเลี้ยงดูผ่านแม่นมชาวเบดูอินก่อนกลับมาอยู่กับมารดา ถึงอายุ 6 ขวบสูญเสียมารดาจึงกลับมาอยู่ในความดูแลของปู่ กระทั่งสูญเสียปู่เมื่ออายุได้ 8 ปี ลุงที่เป็นพ่อค้าได้เข้าอุปถัมภ์ พาเดินทางค้าขายทั่วดินแดนอาระเบีย สัมผัสกับสังคมหลากอารยธรรมที่อยู่รายรอบ การซึมซับความรักความเข้าใจจากสังคมสารพัดเชื้อชาติ ภาษาและศาสนาทั้งจากคนเมือง คนทะเลทรายช่วยขัดเกลาให้ท่านนบีมีบุคลิกภาพที่โดดเด่นกระทั่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสรรสร้างประชาชาติอิสลามขึ้นในภายหลังท่านนบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) จากไปใน ค.ศ.632 เมื่ออายุ 63 ปี สร้างรัฐอิสลามของชนอาหรับขึ้นเป็นครั้งแรกมีศูนย์กลาง ณ มะดีนะฮฺทางเหนือของมักกะฮฺ รวบรวมคนหลากชาติพันธุ์ หลากศาสนาเข้าด้วยกันกำเนิดเป็นอาณาจักรอิสลามที่เท่าเทียมแผ่ขยายไปทั่วดินแดนตะวันออกกลาง อัฟริกา เอเชียและยุโรป ความสำเร็จของท่านนบีมิใช่เพียงด้านศาสนา แต่ครอบคลุมทั้งการเมือง การปกครอง กลายเป็นแบบอย่างให้โลกได้เรียนรู้ คาเรน อาร์มสตรอง (Karen Armstrong ค.ศ.1944-ปัจจุบัน) นักเขียนชาวอังกฤษนามอุโฆษกล่าวว่า “หากมองมุฮัมมัดในมุมเดียวกับบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์มอง เราย่อมเชื่อมั่นว่า บุคคลผู้นี้คืออัจฉริยะยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มิใช่ผลจากการรับอัลกุรอานหรือการสร้างศาสนาที่ยิ่งใหญ่หรืออัจฉริยภาพทางทหาร แต่มาจากสภาพแวดล้อมที่ท่านเติบโตขึ้นมา การยืนหยัดต่อสู้ของท่านล้วนเป็นบทเรียนสอนพวกเรา” ศาสตราจารย์อาร์เธอร์ อาร์เบอร์รี (Arthur J. Arberry ค.ศ.1905-1969) นักประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด เขียนยกย่องท่านนบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) ไว้ใน ค.ศ.1964 ว่าในบรรดามนุษย์ที่ถือกำเนิดมาในโลกนี้ (117 พันล้านคนนับถึง ค.ศ.2020) มุฮัมมัดศาสนทูตแห่งอิสลามคือบุคคลที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกมากที่สุด อัลฟองเซ เดอ ลามาร์คติน (Alphongse de Lamartine ค.ศ.1790-1869) รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสกล่าวไว้ใน ค.ศ.1848 ว่า “หากอัจฉริยภาพของมนุษย์ใช้เกณฑ์สามประการในการวัด ได้แก่ ความยิ่งใหญ่ของจุดมุ่งหมาย ความน้อยนิดของวิธีการ ความโดดเด่นของผลสัมฤทธิ์ จะไม่มีใครเทียบได้เลยกับมุฮัมมัด” มหาตมะ คานธี (ค.ศ.1869-1948) มหาบุรุษชาวอินเดียเคยเขียนไว้ว่า “มิใช่ด้วยดาบที่สร้างชัยชนะให้แก่อิสลามยุคแรก ทว่าเป็นบุคลิกภาพ ความเมตตา ความยึดมั่นในสัญญา ความภักดีอย่างแท้จริงต่อพระผู้เป็นเจ้าของท่านนบีมุฮัมมัดต่างหากที่สร้างชัยชนะมากมายเหล่านั้น” คำพูดนี้ยืนยันถ้อยความที่ปรากฏในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺที่ 21 อัลอัมบิยาอฺ อายะฮฺที่ 107 ที่ว่า “และเรา (อัลลอฮฺ) มิได้ส่งเจ้า (มุฮัมมัด) มาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย” #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #นบีมุฮัมมัดพลังละมุนแห่งอิสลาม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *