นบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) พลังละมุนแห่งอิสลาม ตอนที่ 19 สุนนะฮฺว่าด้วยการงีบหลับกลางวัน (ฆอยลูละฮฺ)

วิถีชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เป็นหนึ่งในพลังละมุนหรือซอฟท์พาวเวอร์ที่มีผู้คนจำนวนมากในโลกปัจจุบันนำไปปฏิบัติ วิถีชีวิตท่านนบีในภาษาอาหรับใช้คำว่า “สุนนะฮฺ” หรือ “ซุนนะฮฺ” (السنة Sunnah) ซึ่งหมายถึงวิถีชีวิตหรือสิ่งที่ปฏิบัติเป็นปกตินิสัยของท่านนบีโดยมีหลายกิจกรรมกลายเป็นแบบอย่างทางประเพณีและกฎหมายของชุมชนอิสลาม คำว่าสุนนะฮฺมาจากวิถีของชนอาหรับตั้งแต่ยุคก่อนอิสลามระบุไว้ในอัลกุรอานเพื่อหมายถึง “วิถีของอัลลอฮฺ” (อัลอะหฺซาบ 33:37, 62) หรือ “วิถีชีวิต” ของคนรุ่นก่อน (อาละอิมรอน 3:137) สุนนะฮฺมีสามประเภท ประเภทแรกคือคำพูดของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เรียกว่า “สุนนะฮฺกอลิยะฮฺ” หรือ “หะดีษ” ประเภทที่สองคือการกระทำของท่านนบีเรียกว่า “สุนนะฮฺอัลฟิลิยะฮฺ” ประเภทสุดท้ายคือการปฏิบัติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ท่านนบีดำรงชีวิตอยู่โดยท่านรู้ทว่าไม่คัดค้านหรือห้ามปราม เรียกว่า “สุนนะฮฺตักริยะฮฺ”หลายสุนนะฮฺเป็นวิถีชีวิตปกติ ดังเช่น การยิ้มซึ่งเป็นกิริยาเชิงบวกมีบันทึกไว้หลายครั้ง การกล่าวทักทายหรือการกล่าวรับการทักทาย ในที่นี้ขอกล่าวถึงสุนนะฮฺหนึ่งที่ท่านนบีปฏิบัติเป็นประจำนั่นคือการงีบหลับช่วงสั้นๆ เวลากลางวันเรียกในภาษาอาหรับว่า “ฆอยลูละฮฺ” (قيلولة Qaylulah) ซึ่งนับเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติในวัฒนธรรมอิสลาม ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “จงงีบหลับเพราะไซฏอนมารร้ายนั้นไม่งีบหลับ” ฆอยลูละฮฺจึงเป็นหนึ่งในสุนนะฮฺที่ได้รับการยอมรับ โดยมีข้อยืนยันทางการแพทย์ปัจจุบันว่าให้ผลดีต่อสุขภาพ นับเป็นหนึ่งในการพักผ่อนที่แม้ไม่ถึงกับหลับ โดยเป็นการงีบหลับ 20-30 นาที ในช่วงเที่ยงวันหรือเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ที่จุดสูงสุด ที่นิยมปฏิบัติกันคืองีบนอนก่อนการละหมาดเที่ยงหรือฎุฮฺริ หากจะทำหลังละหมาดก็ได้ไม่เป็นปัญหาฆอยลูละฮฺหรือการงีบหลับเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นปกติ มิใช่เพื่อชดเชยการอดนอนช่วงกลางคืน หรือเพื่อพักจากการอ่อนเพลียเกินไปหลังทำงานหนักยามกลางวัน การงีบหลับเป็นไปเพื่อเสริมคุณภาพการนอนกลางคืนมิใช่เพื่อทดแทน ในทางการแพทย์ การงีบหลับให้ประโยชน์มากมายสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี ช่วยให้ได้พักผ่อนมากขึ้น ลดอาการเมื่อยล้า เพิ่มความตื่นตัว อารมณ์ดีขึ้น ปรับปรุงประสิทธิภาพ รวมถึงทำให้การตอบสนองเกิดรวดเร็วขึ้น หน่วยความจำของสมองทำงานดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรระวังข้อเสียไว้บ้าง เป็นต้นว่า อาจหลับยากขึ้นยามกลางคืน ที่พบบ่อยคือผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับหรือคุณภาพการนอนหลับไม่ดีนักตอนกลางคืน การงีบหลับกลางวันอาจทำให้อาการเหล่านี้เลวลงได้ นอกจากนี้การงีบหลับนานหรือบ่อยครั้งอาจรบกวนการนอนตอนกลางคืนได้ จึงต้องระวัง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #อดงีบหลับกลางวัน, #ฆอยลูละฮฺ, #qailulah

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *