ถือมังสะวิรัติต้องระวังกระดูกสะโพกหัก

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเป็นที่เรียบร้อย หมายถึงกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 60 ปีมีมากกว่าร้อยละ 20 วัยเด็กและเยาวชนลดลง ประชากรวัยทำงานที่เสียภาษีลดต่ำลง การพัฒนาประเทศในอนาคตจะเป็นปัญหา เรื่องประเทศขาดรายได้จากภาษีนั่นก็ปัญหาหนึ่ง เรื่องรายจ่ายด้านสาธารณสุขเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นนั่นก็อีกปัญหาหนึ่ง จำเป็นต้องแก้ปัญหาไปพร้อมๆกัน ลองมาดูเรื่องการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุกันก่อนสิ่งที่ต้องเร่งทำคือหาหนทางทำให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพตนเองให้มากขึ้น รัฐต้องเน้นเวชศาสตร์การป้องกันเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี แข็งแรงตามวัยหรือดีกว่าวัย ปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุคือโรคที่มาพร้อมกับความชราภาพ ที่พบบ่อยไม่ใช่โรคติดเชื้อแต่เป็นโรคไม่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน และอีกสารพัด เวชศาสตร์การป้องกันเน้นกันที่โภชนาการและการออกกำลังกายที่สมวัย ด้านโภชนาการสิ่งที่พบบ่อยคืออาหารแบบตะวันตกก่อปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน เบาหวาน รวมทั้งโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases หรือ NCDs) วิธีป้องกันคือใช้โภชนาการ ลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อแดง เป็นต้นว่า เนื้อสัตว์บกขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นวัว ควาย สุกร แพะ แกะ โดยเลือกปลาอย่างปลาทะเล เลี่ยงพืชผักที่ใช้สารเคมี ทว่าหนีเสือบางครั้งก็ปะจระเข้ คนที่งดเนื้อสัตว์โดยประพฤติมังสะวิรัติเต็มรูปแบบ งดเนื้อนมไข่ปลา งดปลาเล็กปลาน้อย มีแนวโน้มที่จะขาดแคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม วิตามินบีสิบสอง กลายเป็นเสี่ยงต่อภาวะกระดูกโปร่งบาง หรือกระดูกพรุน (Osteoporosis) มากขึ้นงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีดส์ (Leeds) สหราชอาณาจักร ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Medicine เดือนสิงหาคม ค.ศ.2022 ติดตามศึกษาหญิงกลางคนถึงสูงอายุที่ประพฤติมังสะวิรัติจำนวน 26,318 คนนาน 20 ปี พบว่าหญิงเหล่านี้เสี่ยงต่อปัญหากระดูกสะโพกหักจากภาวะกระดูกโปร่งบางมากกว่าหญิงที่บริโภคปกติถึง 33% สิ่งที่ทีมวิจัยแนะนำคือการเลือกบริโภคมังสะวิรัติที่งดดื่มนม งดบริโภคปลาเล็กปลาน้อย ควรเสริมแคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินดี วิตามินบีสิบสอง ไขมันโอเมก้าสาม หรือรับประทานผักใบเขียวเข้มให้มากขึ้นนอกเหนือจากมังสะวิรัติคือความนิยมบริโภคอาหารจากพืชหรือ Plant-based มากขึ้น ก่อความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนในลักษณะเดียวกัน ข้อแนะนำจึงไม่ต่างกัน อีกปัจจัยหนึ่งคือคนกลุ่มมังสะวิรัติมักมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ มีค่า BMI หรือสัดส่วนน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมต่อส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสองต่ำกว่า 18 หรือ 18.5 ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนจึงควรดูแลน้ำหนักตัวให้เป็นปกตินั่นคือระหว่าง 18-25 #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มังสะวิรัติกับภาวะกระดูกพรุน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *