“ชา” จากวัฒนธรรมสู่การเมืองและสุขภาพ ตอนที่ 11

สงครามฝิ่นทั้งสองครั้งระหว่างจีนกับอังกฤษและบรรดาชาติมหาอำนาจยุคนั้นแม้สร้างความเสียหายให้กับเกียรติภูมิของจีนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนอีกทั้งยังทำให้ประเพณีการดื่มชาตามแบบฉบับชาวจีนคลอนแคลนตามไปด้วย สงครามฝิ่นกลับทำให้ชาวจีนเกิดความรู้สึกต่อต้านชาวตะวันตกมากขึ้น เมื่อชาเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง ความหวงแหนในวัฒนธรรมการดื่มชาก็ยิ่งทวีสูงขึ้น ความสำเร็จของอังกฤษในการพัฒนาพื้นที่ปลูกชาในอินเดียทำให้ปริมาณการค้าขายใบชาของจีนลดลง ชาวจีนเริ่มหันกลับเข้าสู่วัฒนธรรมของตนเอง ลักษณะการดื่มชาแบบจีนที่พึงใจกับรสชาติจากใบชามากกว่าการเสริมเติมแต่งด้วยรสชาติอื่นๆตามแบบฉบับยุโรป จึงยังคงดำเนินต่อไปได้ รักษาเอกลักษณ์โดดเด่นความเป็นชาจีนได้จนกระทั่งปัจจุบัน การชงชาและดื่มชาสำหรับชาวจีนคือศิลปะ คราวนี้ลองไปดูศิลปะการปรุงชาแบบจีนกันบ้าง เริ่มกันตั้งแต่การผลิตใบชา รู้กันอยู่แล้วว่าชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้จากใบอ่อนของต้นชา ก่อนที่จะนำใบชามาปรุงให้กลายเป็นเครื่องดื่มรสชาติจรุงใจได้นั้น ใบชาจะต้องผ่านกระบวนการอ็อกซิเดชันด้วยการนวด (Rolling) หรือไม่นวด กระบวนการนี้มักเรียกกันติดปากว่า “การหมัก” (Fermentation) ซึ่งอันที่จริงคือ “การบ่ม” (Oxidation) จากนั้นจึงนำไปตากแห้ง ใบชาสดสีเขียว หากเอามานวดเพื่อให้เซลล์ใบชาแตกปล่อยเอนไซม์ออกมาเพื่อบ่มจะทำให้สีของใบชาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ยิ่งบ่มนานสีของใบชาก็จะยิ่งเปลี่ยนเป็นสีเข้ม ใบชาที่ขายกันอยู่ทั่วไปแบ่งออกเป็นสามประเภทขึ้นอยู่กับการบ่มใบชา ชาประเภทแรกเป็นชาที่บ่มแต่น้อยหรืออาจเรียกว่าบ่มครึ่งเดียว ชากลุ่มนี้เรียกว่า “ชาอู่หลง” (Oolong tea) บางครั้งเรียกว่า “ชาสีน้ำเงิน” (Blue tea) ชากลุ่มนี้ยังแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ บ่มแต่น้อย ชาประเภทนี้ใบจะมีสีเหลืองทอง ชาอู่หลงกลุ่มที่สองคือบ่มปานกลางมีสีออกน้ำตาลอ่อน และประเภทสุดท้ายคือบ่มนานขึ้นมีสีน้ำตาลเข้มขึ้น คล้ายสีของดอกไฮยาซิน ชาอู่หลงทั้งสามประเภทนิยมดื่มกันมากในจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะไต้หวัน ส่วนคนญี่ปุ่นและเกาหลีดื่มชาอู่หลงค่อนข้างน้อยชาประเภทที่สองคือชาที่ไม่ผ่านกระบวนการบ่มเลย ชาประเภทนี้แม้จะแห้งแต่ก็ยังมีใบเขียวจึงเรียกว่า “ชาเขียว” (Green tea) ชาประเภทนี้นำใบไปตากแห้งโดยไม่ผ่านการบ่มทำให้ใบชาจะยังคงความเขียวอยู่ เมื่อนำมาชง สีของชาจะมีสีออกเขียวเหลือง มีกลิ่นคล้ายผักสดหรือออกเหม็นเขียวไม่มีกลิ่นหอมมากเหมือนใบชาบ่ม อาจเป็นเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ชาเขียวไม่ค่อยได้รับความนิยมในแถบซีกโลกตะวันตก ชาประเภทสุดท้ายเป็นใบชาที่ผ่านกระบวนการบ่มอย่างเต็มที่ ชากลุ่มนี้คนบางกลุ่มเรียกว่า “ชาดำ” (Black tea) แต่บางครั้งก็เรียกว่า “ชาแดง” (Red tea) เป็นชาที่มีรสชาติกลมกล่อม กลิ่นคล้ายน้ำตาลจากข้าวมอลต์ คนทั่วไปนิยมดื่มชากลุ่มนี้มากที่สุด เพราะรสชาติดีกว่าชาประเภทอื่นเป็นผลให้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ชาที่คนไทยส่วนใหญ่ดื่มอยู่ในกลุ่มนี้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ชาจากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *