ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 48

สุลต่านในจักรวรรดิอุสมานียะฮฺทรงรู้ว่าหากประสงค์จะดำรงจักรวรรดิไว้ยาวนานจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการศึกษา สุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 เมื่อย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่คอนสแตนติโนเปิล สิ่งแรกๆที่ทรงทำคือพัฒนาสถาบันการศึกษาเน้นที่มัดราซา (Madrasa) หรือวิทยาลัย โดยต่อยอดองค์ความรู้และประสบการณ์จากมัดราซาที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่เมืองอิซนิกโดยสุลตานออร์ฮันที่ 1 อันที่จริงก่อนหน้านั้นในสังคมอิสลามมีพัฒนาการศึกษามาเนิ่นนานแล้วตั้งแต่ยุคอับบาสิยะฮฺหรือก่อนหน้านั้น สังคมอิสลามระยะเริ่มต้น การศึกษาทำในมัสยิด เริ่มตั้งแต่การจัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลามก่อนจะแยกออกมาเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาหรือมักตับ (Maktab) การละหมาดในอิสลามที่ผินหน้าไปทางทิศกิบลัตซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของนครเมกกะเป็นผลให้แต่ละพื้นที่ต้องคำนวณจุดที่เป็นทิศกิบลัต การกำหนดเวลาละหมาดและถือศีลอด การขึ้นลงของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้งหมดเป็นผลให้โรงเรียนสอนศาสนาบรรจุรายวิชาคำนวณทางคณิตศาสตร์ตลอดจนการใช้เครื่องมือวัดมุมหรือแอสโทรเลบ (Astrolabe) ไว้ด้วย ในโลกอิสลาม มีการจัดตั้งสถาบันวิทยปัญญาขึ้นคือ ไบตุลฮิกมะฮฺ (Baitul Hikma) สมัยอับบาสิยะฮฺ (750-1258) และดารุลฮิกมะฮฺ (Darul Hikma) ในไคโร (1005-1156) โดยเป็นทั้งสถาบันการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ในสาขาปรัชญา คณิตศาสตร์ การแพทย์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมี องค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นนำไปสอนในวิทยาลัยหรือมัดราซา ซึ่งระยะแรกของมัดราซาที่เริ่มในศตวรรษที่ 10 การสอนเน้นไปที่ศาสนาและกฎหมายหรือชารีอะฮฺ (Shariah) ภายหลังจึงค่อยๆนำเอาสาขาวิชาทางด้านคณิตศาสตร์เติมเข้าไป ก่อนจะเสริมด้วยสาขาวิชาทางด้านปรัชญา สังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เมื่อจักรวรรดิเซลจุก (ค.ศ.1037-1194) ของชนชาวเติร์กเริ่มต้นขึ้นในเปอร์เซีย การพัฒนาการศึกษาเป็นไปอย่างก้าวหน้า มีการจัดตั้งมัดราซาหรือวิทยาลัยขึ้นทั่วจักรวรรดิ ได้แก่ แบกแดด ดามัสกัส ไคโร คอนยา มาลัตยา โมซุล เมเชด ทาบริซ อิสฟาฮาน เมิร์ฟ ในยุคสมัยของออร์ฮันที่ 1 มัดราซาแห่งแรกในจักรวรรดิอุสมานียะฮฺจึงจัดตั้งขึ้น เมื่อเข้ารัชสมัยของเมฮฺเมดที่ 1 กรุงคอนสแตนติโนเปิลไม่เพียงมีสถาบันการศึกษานับร้อยแห่ง ยังส่งนักวิชาการไปเรียนรู้สาขาวิชาต่างๆไกลไปจนถึงสะมาคานและบุคอรอในเอเชียกลาง การพัฒนาการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในจักรวรรดิอุสมานียะฮฺสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของจักรวรรดิ พัฒนาการในจักรวรรดิคู่แข่งคือยุโรปที่เป็นไปอย่างรวดเร็วในระยะหลังไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้จักรวรรดิถดถอยในเวลาต่อมา ความขัดแย้งภายในต่างหากที่กระทบค่อนข้างมากต่อพัฒนาการทางวิทยาการของจักรวรรดิซึ่ง คาร์ล ฟอน เคลาซวิทซ์ (Carl von Clausewitz ค.ศ.1780-1831) นักยุทธศาสตร์การทหารชาวเยอรมันเขียนเตือนไว้มากในยุคหลังจากนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *