ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 47

นักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยนับความเป็นจักรวรรดิ (Imperial) ของอุสมานียะฮฺว่าเริ่มต้นใน ค.ศ.1453 เมื่อสุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 ยึดครองกรุงสแตนติโนเปิลได้ อันเป็นผลมาจากความเชื่อที่ว่าการก้าวขึ้นของจักรวรรดิหนึ่งกำเนิดขึ้นเมื่อสามารถล้มล้างอีกจักรวรรดิหนึ่งลงได้ โดยอุสมานียะฮฺกำเนิดขึ้นจากการโค่นล้มจักรวรรดิไบแซนไทน์ลง จะเชื่ออย่างไรไม่ใช่ประเด็น สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือสุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 ทรงเป็นนักการศึกษา ขณะที่พระราชบิดาคือสุลต่านมูรอดที่ 2 ทรงอุดมด้วยวิสัยทัศน์มองเห็นว่าการปกครองในอนาคตต้องมาพร้อมกับการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีและเศรษฐกิจ นั่นเองที่ทำให้อุสมานียะฮฺรักษาความเป็นจักรวรรดิไว้ได้ยาวนานเมื่อสุลต่านมูรอดที่ 2 โอรสของสุลต่านเมฮฺเมดที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์ครั้งแรกเป็น ค.ศ.1444 พระชนมายุ 40 ชันษาแล้ว เวลานั้นล่วงเข้ากลางศตวรรษที่ 15 สิ่งที่ทรงเห็นคือยุโรปฝั่งบอลข่านแม้ยังล้าหลังทว่ายุโรปฝั่งตะวันตกเริ่มฟื้นตัวก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่ายุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือเรเนสซองค์ (Renaissance) ที่เริ่มตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 14 จึงทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อสร้างเทคโนโลยีและเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน เข้ารัชกาลเมฮฺเมดที่ 2 พระองค์ผ่านการศึกษามามากทรงเรียนรู้ความก้าวหน้าของโลกอิสลามยุคอับบาสิยะฮฺทั้งเรียนรู้เรื่องราวของนักวิชาการกรีก โรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางพระราชมารดาที่เป็นชาวยุโรปสิ่งที่จักรวรรดิ (Imperial) พึงระวังคือการเติบโตของจักรวรรดิคู่แข่งทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร “ธูไซดิเดส” (Thucydides) (460-400 ก่อนคริสตกาล) นักปรัชญาชาวกรีกเขียนไว้อย่างนั้น เมื่อย้ายเมืองหลวงจากอะดรีอาโนเปิล (Adrianople) หรือเมืองอะเดิร์น (Adirne) ในตุรกีปัจจุบันมายังคอนสแตนติโนเปิล สิ่งที่พระองค์เร่งทำคือการสร้างสถาบันการศึกษาระดับต้น (มักตับ) และอุดมศึกษา (มัดราซา) จัดตั้งสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เร่งสร้างกองทัพเรือ พัฒนาสาขาสมุทรศาสตร์ การทำแผนที่ วิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์ เร่งพัฒนากองทัพเพื่อแข่งกับยุโรป สิ่งที่ทรงลงทุนไว้ด้วยพระวิสัยทัศน์ให้ผลคุ้มค่า อุสมานียะฮฺล้ำหน้าด้านการทหารและเศรษฐกิจสร้างความเกรงขามได้นานกว่าสามศตวรรษ จนกระทั่งเข้าศตวรรษที่ 18 ยุโรปเปลี่ยนจากยุคเรเนสซองค์เข้าสู่ยุคเรืองรองทางปัญญา (Enlightenment) ถึงกลางศตวรรษที่ 18 ยุโรปพลิกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีทุกด้าน เช่นนั้นเองที่อุสมานียะฮฺเริ่มถูกแซง สิ่งที่เคยกังวลมาก่อนตามทฤษฎีของธูไซดิเดสก็ปรากฏ เวลานั้นหลายชาติยุโรปแข่งกันก้าวขึ้นเป็นจักรวรรดิไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ปอร์ตุเกส ฮอลแลนด์ เยอรมัน รัสเซีย จักรวรรดิอุสมานียะฮฺที่แตกต่างจากชาติยุโรปกลายเป็นเป้าหมายร่วมที่ต้องถูกโค่นล้ม อุสมานียะฮฺเริ่มเอาชนะสงครามยากขึ้นในศตวรรษที่ 18 กระทั่งเริ่มพ่ายแพ้มากขึ้นในศตวรรษที่ 19 ผ่านมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 จักรวรรดิถูกกดดันให้เลือกข้างในความขัดแย้งครั้งใหญ่ในยุโรป การเลือกยืนอยู่ข้างเยอรมนีและออสเตรียฮังการีในสงครามโลกครั้งที่ 1 นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิอุสมานียะฮฺในเวลานั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *