ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 28

ทุ่งหญ้าสเต็ปป์ระหว่างทะเลสาบแคสเปียนและทะเลอะรัลต้นศตวรรษที่ 13 ชนเติร์กเผ่าออกุซในพื้นที่ไม่เป็นสุขนักไม่ใช่จากความขัดแย้งกับชนเติร์กต่างเผ่าที่เกิดขึ้นมานานแต่เป็นความทารุณโหดร้ายของมองโกลที่รวบรวมชนเผ่าเร่ร่อนทั้งมองโกลทั้งเติร์กเพื่อสร้างจักรวรรดิขยายดินแดน ชนออกุซส่วนที่เป็นมุสลิมเลือกเส้นทางอพยพหนีภัยลงทางใต้ น่าเสียดายที่เวลานั้นจักรวรรดิเซลจุกในเปอร์เซียและเอเชียกลางล่มสลายลงไปแล้วเหลือเพียงสาขาของเซลจุกที่ชื่อรัฐสุลต่านแห่งรุม (Sultanate of Rum) ในคาบสมุทรอะนาโตเลีย การเดินทางไปยังที่นั้นต้องอ้อมทางใต้ทะเลสาปแคสเปียนเพื่อมุ่งไปทางตะวันตก เออร์ทูรุล ฆาซี (Ertugrul Ghazi) นำมารดาและน้องชายพร้อมคนเผ่าคายีสาขาของออกุซครึ่งพันเดินทางไปยังที่นั้นพร้อมปศุสัตว์ ขณะที่น้องชายสองคนแบ่งเผ่าคายีครึ่งหนึ่งเลือกเดินทางไปทางทิศตะวันออกที่มีอาณาจักรควาเรสเมียตั้งอยู่การอพยพใช้วิธีเลาะชายฝั่งทะเลสาปแคสเปียนผ่านดินแดนของชนเติร์กแมนและอะเซอรี (Azheri) แถบเทือกเขาคอเคซัสที่ค่อนข้างเป็นมิตรมุ่งหน้าสู่แผ่นดินอะนาโตเลีย โดยเดินทางหลบหลีกกองทหารมองโกลกลุ่มเล็กๆไปตลอดทาง ในแผ่นดินอะนาโตเลียนั้นเอง เออร์ทูรุลพบการปะทะกันของชนสองกลุ่มจึงตัดสินใจนำนักรบเผ่าคายีเข้าช่วยเหลือชนกลุ่มเล็กกระทั่งสามารถขับกองกำลังของชนกลุ่มใหญ่ออกไปได้ จึงพบว่ากลุ่มชนที่ตนช่วยไว้นั้นคืออะลาอุดดิน (Ala-uddin Kayqubad I) สุลต่านแห่งรุมที่ถูกทหารมองโกลเข้าทำร้าย สุลต่านตอบแทนเออร์ทูรุลด้วยการมอบดินแดนทางตะวันตกสุดของอะนาโตเลียให้เป็นที่ตั้งชุมชนเผ่าคายี เป็นดินแดนที่รายล้อมไปด้วยเติร์กเผ่าอื่นๆ ไม่ไกลจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลนครหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่เวลานั้นเสื่อมอำนาจลงมากแล้ว ปัญหาในพื้นที่คือชุมชนชาวกรีก อาร์มีเนียและกลุ่มอื่น ทั้งยังมีทหารครูเสดจากยุโรปผ่านเข้ามาเป็นครั้งคราว ขณะที่มองโกลที่สร้างปัญหาอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกของอะนาโตเลีย ค.ศ.1243 พ้นยุคสมัยของอะลาอุดดิน ทัพรัฐสุลต่านแห่งรุมมีอันต้องพ่ายแพ้ต่อทัพของมองโกลที่นำโดยแม่ทัพไบจู (Baiju) ที่มีกำลังน้อยกว่า นับจากนั้นรัฐสุลต่านแห่งรุมกลายเป็นรัฐบริวารของมองโกลต้องรวบรวมส่วยจากบรรดาเบลิกส์ (Beyliks) หรือชุมชนเติร์กในอะนาโตเลียที่มีนับร้อยเผ่าส่งเป็นบรรณาการให้มองโกล เผ่าคายีของเออร์ทูรุลทำในลักษณะเดียวกันโดยยากที่จะแข็งขืน ทว่าไบจูกลับถูกปลดก่อนที่ทัพใหญ่มองโกลจะเข้าทำลายแบกแดดของจักรวรรดิอับบาสิยะฮฺใน ค.ศ.1258 การทำลายแบกแดดด้วยความหฤโหดสร้างความเจ็บแค้นให้กับมุสลิมทั่วทั้งตะวันออกกลาง ประมาณ ค.ศ.1260 ไบจูที่ยังคงอยู่ในพื้นที่อะนาโตเลียพร้อมทหารมองโกลถูกกองกำลังของเออร์ทูรุลบุกสังหารจนได้ในที่สุด นี่คือเรื่องราวของเออร์ทูรุล (ค.ศ.1198-1281) ที่ในเวลาต่อมาออสมาน (ค.ศ.1258-1326) บุตรชายคนที่สาม กลายเป็นบุรุษผู้สร้างจักรวรรดิออตโตมันหรืออุสมานียะฮฺขึ้นใน ค.ศ.1299 เรื่องราวทั้งหมดมีบันทึกซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์นานนับร้อยปี หากอยากรู้เรื่องราวของประเทศตุรกีจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องราวของออสมันและเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นซึ่งเกิดขึ้นจริงบ้าง หรืออาจจะจริงบ้างปนๆกันไป #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *