ข่าวเก่าเล่าใหม่: #แฟนต้าใหม่กับปัญหาสารเคมีสองชนิด?

ปัญหาใหญ่ของโลกออนไลน์คือเขียนอะไรลงในอินเตอร์เน็ต หากไม่ลบที่ต้นฉบับ เนื้อหาก็ค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น หากเป็นข่าวลวงหรือไม่ถูกต้องถึงผู้รู้จะอธิบายไปแล้ว ทิ้งไว้สักระยะหนึ่งคนก็สามารถดึงข่าวเก่าออกมาแชร์กันได้อีก ข่าวลวง (Fake news) บางข่าวแชร์กันเกินสิบปี อธิบายเกินสิบหนก็ไม่จบ คนเขาจึงว่าอยู่ในโลกโซเชียลออนไลน์ อย่าไปจริงจังกับมันมากนัก กรณีผลิตภัณฑ์ฮาลาล-หะรอมยิ่งแล้วใหญ่ เป็นข่าวเชิงลบสร้างการตื่นกลัวได้มาก อย่างเช่นเรื่องน้ำอัดลม Fanta ผมเคยอธิบายเมื่อนานมากแล้ว ครั้งนี้จะขออธิบายใหม่ข่าวปล่อยเรื่อง Fanta ใหม่ซึ่งวันนี้ไม่ใช่ Fanta ใหม่แล้ว เข้าใจว่าต้นตอน่าจะเริ่มจากอังกฤษจากนั้นขยายไปทั่วโลก ผู้ที่เป็นคนเริ่มอ้างตนเองว่าชื่อ Rizvi Mufthi หากเป็นคนนี้จริงก็น่าแปลกเพราะคนๆนี้เป็นนักวิชาการศาสนาอิสลามอยู่ที่ศรีลังกาและผมเองรู้จักดี ทำงานด้วยกันในบางเรื่อง จึงไม่แน่ใจว่าเป็น Rizvi Mufthi ตัวจริงหรือเปล่า และประเด็นที่ตั้งขึ้นมาก็น่าแปลก เป็นข่าวที่ “ไม่น่าแชร์”ประเด็นข่าวจาก #Rizvi Mufthi คือแนะนำว่ามุสลิมไม่ควรดื่มน้ำอัดลมแฟนต้าสูตรใหม่ ให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีไขมันหมูเข้ามาเกี่ยวข้องโดยอ้างเรื่องการเติม #E211 และ #E224 และเรื่องของ Carcinogenic คนที่ไม่ได้เรียนเคมีอาจไม่เข้าใจ สารเคมีที่เรียกว่า E211 คือโซเดียม เบนโซเอต (#Sodium Benzoate) กระบวนการผลิตเชิงเคมีไม่มีทางที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับไขมันหมูได้เลย ซึ่งไม่รู้ว่าไปผูกกันอย่างไร ส่วน E224 คือโปตัสเซียม เมตะไบซัลไฟต์ (#Potassium Metabisulfite) นี่ก็เช่นกัน ไม่มีอะไรที่จะไปเกี่ยวกับไขมันหมูได้เลย อีกประเด็นหนึ่งคือ Carcinogenic ซึ่งหมายถึงการเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งอาจกล้อมแกล้มอธิบายได้บ้างในทางวิชาการนั่นคือ E211 หากทำปฏิกิริยากับวิตามินซีที่พบในน้ำผลไม้ อาจก่อให้เกิดสารเบนซีนขึ้น สารเบนซีนนี่เองที่เป็นสารก่อมะเร็งหรือ Carcinogenic กรณีแฟนต้าสูตรใหม่อาจมีการเติมวิตามินซีลงไป ทำให้กังวลกันว่าจะเกิดสารเบนซีนที่ว่า แต่ไม่น่าจะเป็นไปได้เรื่องสารเคมีทั้งสองตัวนี้มีอยู่สองประเด็น ประเด็นแรกสารเบนซีนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับไขมันหมู และความเป็น Carcinogenic ก็ไม่เกี่ยวกับไขมันหมูเช่นกัน ประเด็นที่สองคือการเป็นสารอันตรายถึงระดับก่อมะเร็งนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเป็นเครื่องดื่มขายกันทั่วโลกอย่างนี้ ผ่านการตรวจสอบเข้มข้นจากคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศต่างๆมากมายอย่างนี้ ข่าวนี้จึงนับเป็นข่าวลวงที่ประสงค์จะสร้างความตื่นกลัวมากกว่า ผมจึงว่าไม่น่านำมาแชร์แฟนต้าสูตรใหม่กับกรณี #ฮาลาล-หะรอม จึงไม่ใช่ประเด็น ส่วนที่เป็นประเด็นน่าจะเป็นกรณีตอยยิบหรือการเป็นอาหารที่ดีมากกว่า น้ำอัดลมไม่ว่าจะเป็นแฟนต้าหรือยี่ห้ออื่น โดยทั่วไปคือน้ำหวานอัดแก๊สที่ไม่ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพสักเท่าไหร่ ดื่มมากไปอาจก่อโรคอ้วน ใครคิดจะดื่มขอให้ระวังเรื่องสุขภาพไว้บ้างก็ดี #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *