กินเค็ม เพิ่มเครียด เพิ่มก้าวร้าว

อาหารอร่อย ใครๆก็ชอบ แต่ต้องระวังความอร่อยจากสารอาหารสองกลุ่มสักหน่อย ได้แก่ อร่อยมันจากไขมันอิ่มตัวกับอร่อยเค็มจากเกลือโซเดียม ไขมันอิ่มตัวทำให้อาหารเกิดรสมัน กินแล้วก็ติดใจ อาหารหลายชนิดอยากให้อร่อยจึงต้องเติมไขมันอิ่มตัวลงไป นอกจากอร่อยจากรสมันแล้ว อร่อยอีกแบบคืออร่อยจากรสเค็ม ด้วยการเติมเกลือโซเดียม อาหารหลายชนิดโรยเกลือสักหน่อย รสชาติก็ดีขึ้น ความเค็มนั้นก่อปัญหาความดันโลหิตสูง แต่ไม่ใช่เพียงเท่านั้น งานวิจัยชิ้นใหม่พบว่าความเค็มสร้างปัญหาความเครียดได้ด้วยงานวิจัยชิ้นที่ว่านี้มาจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (University of Edinburgh) สกอตแลนด์ นำโดยศาสตราจารย์ แมทธิว ไบเลย์ (Matthew A Bailey) ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Cardiovascular Research เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2022 เป็นการศึกษาวิจัยในหนูทดลอง สิ่งที่พบคือเมื่อให้หนูกินอาหารที่มีความเค็มจากเกลือโซเดียม โดยเพิ่มปริมาณเกลือให้สูงขึ้น ผลที่ตามมาคือโปรตีนบางชนิดในสมองถูกสร้างมากขึ้น อาจมากถึงสองเท่าเสียด้วยซ้ำ เกลือกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนชนิดที่สร้างฮอร์โมนความเครียด (stress hormone) บางชนิด ผลคือฮอร์โมนเครียดสูงขึ้น หนูมีความเครียดมากขึ้น ฮอร์โมนเครียดที่ว่านี้มีหลายตัว เกลือจึงเข้าไปกระตุ้นการทำงานของยีนหลายตัว ส่งผลให้ฮอร์โมนเครียดหลายตัวที่ว่านั้นเพิ่มขึ้น ความเครียดไม่ได้เพิ่มเพียงอย่างเดียว ผลการศึกษายังพบว่าความกระวนกระวาย (anxiety) และความก้าวร้าว (agggression) เพิ่มตามไปด้วยอีกต่างหาก ทีมวิจัยสรุปผลออกมาว่าการศึกษาในหนูทดลองสามารถนำไปแปลผลในมนุษย์ได้เช่นกัน จึงแนะนำให้ลดอาหารเค็มลง เค็มแล้วก็เครียด เครียดแล้วส่งผลต่อภาวะจิตใจ เกิดอารมณ์หงุดหงิด กระวนกระวาย กระสับกระส่าย จนกระทั่งออกอาการก้าวร้าวตามมา เกิดปัญหาต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาไม่รู้จบ ทีมวิจัยสรุปไว้อย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ความเค็มกับความเครียด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *