กินอาหารลดอัลไซเมอร์กันดีกว่า

อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) หรือโรคสมองเสื่อม กลายเป็นโรคสามัญในสังคมผู้สูงอายุอย่างประเทศไทยไปแล้ว ป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ดีที่สุดโดยใช้แนวทางโภชนาการ ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ สถาบัน IRCCS Ospedale Policlinico San Martino เมืองเจนัว ประเทศอิตาลี นำโดย พญ.แอนนา ลอรา เครโมนีนี (Anna Laura Cremonini) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมตีพิมพ์ในวารสาร Oxid Med Cell Longev เดือนกันยายน ค.ศ.2019 ไว้ดี สรุปว่าการดูแลด้านโภชนาการในภาพรวมจะดีกว่าการให้ความสนใจกับอาหารหรือสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง อัลไซเมอร์เป็นโรคซับซ้อน การใช้สูตรอาหารที่ประกอบไปด้วยอาหารหลายชนิดหรือใช้แนวทางโภชนาการป้องกันโรคจึงเป็นประโยชน์กว่าแนวทางโภชนาการที่ทางกลุ่มแนะนำมีสามแนวทาง (1) “MeDi” (Mediterranean diet) หรือแนวทางเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่ บริโภคปลาทะเลมากขึ้น ลดเนื้อแดงโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเนื้อปรุงหรือผ่านกระบวนการลง บริโภคผักผลไม้ อย่างผักใบเขียว น้ำมันมะกอก ถั่วเปลือกแข็ง (2) “DASH” (Dietary Approaches to Stop Hypertension) หมายถึงการใช้แนวทางโภชนาการเพื่อลดความดันโลหิตสูง เน้นผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสีหรือข้าวกล้อง เนื้อปลอดไขมันหรือเนื้อขาว ได้แก่ เนื้อไก่ไม่มีไขมัน เนื้อปลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาทะเล ลดอาหารเค็ม ลดอาหารกระป๋อง ลดผงชูรส ลดเครื่องปรุงแต่งอาหาร (3) “MIND” (the Mediterranean-DASH Intervention for Neurodegenerative Delay) เป็นแนวทางโภชนาการชะลอการเสื่อมของระบบประสาท โดยผสมผสานแนวทาง MeDi และ DASH เข้าด้วยกัน เน้นการใช้ผลไม้ประเภทเบอร์รี่ให้มากหน่อย หากเป็นในบ้านเราคงเพิ่มน้ำมะพร้าวลงไปด้วยนอกจากสามสูตรนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ทางทีมวิจัยกล่าวถึงและเน้นค่อนข้างมากคือ “การอดอาหารเป็นระยะ” (Intermittent Fasting หรือ IF) การอดอาหารลักษณะนี้ที่รู้จักกันดีที่สุดคือแบบ Ramadan หรือถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของมุสลิม งดการกิน การดื่ม ทั้งวันนาน 30 ว้น หรือถือศีลอดแบบสุนนะฮฺ (Sunnah) ตามแนวทางศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ซึ่งทางวิชาการทางการแพทย์เรียกว่า “5:2 diet” นั่นคือถือศีลอดทุกวันจันทร์ พฤหัสบดี สองวันต่อสัปดาห์ เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ในเดือนรอมฎอนนี้ กลางวันอดอาหารแบบรอมฎอน ช่วงเวลาละศีลอดหรือช่วงกลางคืนเลือกอาหารแบบ MeDi หรือ DASH หรือ MIND หรือผสมผสานกัน ทำได้อย่างนี้ ยิ่งให้ผลดีมากขึ้นวิธีการที่กล่าวถึงทั้งหมดช่วยส่งเสริมการสร้างระบบประสาทของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส กระตุ้นระบบตอบสนองต่อความเครียดแบบปรับตัวและเพิ่มความยืดหยุ่นของเซลล์ประสาท นำไปสู่การปรับปรุงกลไกการทำงานของสมองแบบมอเตอร์หรือรับรู้แบบตรงไปตรงมา ช่วยลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ได้ ทีมวิจัยยืนยันมั่นคงอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #อัลไซเมอร์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *