กินอาหารลดภาวะอักเสบในร่างกาย

พวกเราคงรู้จักภาวะอักเสบ (Inflammation) กันดีอยู่แล้ว ภาวะอักเสบหากเกิดขึ้นกับร่างกายด้านนอก มีสัญญาณเตือนง่ายๆ 5 ประการ ได้แก่ รอยแดง อาการบวม เกิดความร้อน อาการเจ็บหรือปวด และสูญเสียการทำงานของร่างกาย หากภาวะอักเสบเกิดขึ้นภายในร่างกาย บ่อยครั้งเราอาจไม่รู้สึก หรือสังเกตไม่เห็น จนกระทั่งเมื่อเกิดอาการลุกลามบานปลายมากขึ้นแล้ว จึงเกิดโรคเรื้อรังต่างๆให้ได้เห็น ดังเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลำไส้ เช่น โรคโครห์น (Chrohn’s) และอาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผล ความที่ภาวะอักเสบเป็นอาการเรื้อรัง เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ความที่ซ่อนอยู่ภายในร่างกายสังเกตไม่พบอาการ กว่าจะเจอผลกระทบ โรคก็อาจลุกลามบานปลายไปมากแล้วในเชิงโภชนาการทางการแพทย์ การป้องกันย่อมดีกว่าการติดตามรักษาและฟื้นฟูอย่างแน่นอน มีสารอาหารหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกร่างกาย มีทั้งสารอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นหรือส่งเสริมภาวะอักเสบและสารอาหารที่ช่วยยับยั้ง สารอาหารที่รู้จักกันทั่วไปคือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ได้แก่ กรดไขมันโอเมก้าหก (Omega-6 หรือ n-6) และกรดไขมันโอเมก้าสาม (Omega-3 หรือ n-3) กรดไขมันสองกลุ่มนี้เป็นสารตั้งต้นสร้างสารกึ่งฮอร์โมนบางชนิดที่เรียกกันว่า “อัยโคซานอยด์” (Eicosanoids) ซึ่งแสดงบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ สารอัยโคซานอยด์ที่ได้มาจากกรดไขมันโอเมก้าหกทำหน้าที่กระตุ้นการอักเสบและภูมิคุ้มกัน ขณะที่อัยโคซานอยด์จากกรดไขมันโอเมก้าสามทำหน้าที่ต้านภาวะอักเสบการป้องกันหรือลดภาวะอักเสบในร่างกายเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น ข้อแนะนำในทางโภชนาการคือลดการบริโภค (ไม่ใช่งด) กรดไขมันโอเมก้าหกลง ได้แก่ ลดน้ำมันพืชอย่าง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด เพิ่มการบริโภคกรดไขมันโอเมก้าสาม ได้แก่ น้ำมันปลาทะเลที่มีกรดไขมันดีพีเอ และหรือดีเอชเอ ปริมาณสูง ดังเช่น ปลาทะเลน้ำลึก อย่างปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาโอ ปลาทู ปลาซาบะ หากจะบริโภคกรดไขมันโอเมก้าสามจากน้ำมันพืชแม้จะให้ฤทธิ์น้อยกว่าแต่ก็มีกรดไขมันโอเมก้าสามที่เปลี่ยนไปเป็นอีพีเอได้พอควร ซึ่งได้แก่ น้ำมันคาโนล่า น้ำมันเมล็ดแฟล็กสีด หรือแม้กระทั่งน้ำมันถั่วเหลือง การบริโภคอาหารอย่างที่ว่านี้หรือโดยการเสริมน้ำมันปลาหรือแม้กระทั่งน้ำมันตับปลาจะช่วยให้อุบัติการณ์ของโรคเรื้อรังจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบลดลงได้ หากเป็นกรณีน้ำมันตับปลาระวังอย่าเสริมให้มากเกินไปก็แล้วกัน อาจจะเจอปัญหาวิตามินดี วิตามินเอ เป็นพิษนั่นคือได้รับมากเกินไป จะกลายเป็นหนีเสือปะจระเข้ไปเสียเปล่าๆ อยากได้ข้อมูลเพิ่มตามอ่านงานวิจัยของ Wall R et al. Nutrition Reviews 2010 ก็แล้วกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ภาวะอักเสบ, #กรดไขมันโอเมก้าสาม, #น้ำมันปลา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *