การอดอาหารและการถือศีลอดกับการยืดอายุขัยผ่านกลไก sirtuins

ขอเขียนเรื่องดีเอ็นเอ (DNA) ต่ออีกสักหน่อย อย่างที่บอกไว้ ดีเอ็นเอไม่ได้มีเฉพาะในนิวเคลียส (nuclear DNA) เท่านั้น ยังมีในอวัยวะเล็กๆของเซลล์ที่เรียกว่า “ไมโตคอนเดรีย” ด้วย เรียกกันว่า mtDNA โดย mtDNA เป็นสายเบสยาว 16,569 คู่เบสที่เป็นส่วนของ 37 ยีน และ 13 สายโพลีเปปไทด์ mtDNA นี้อยู่ในส่วนไข่ (egg) ของแม่ ไม่มีในสเปิร์มของพ่อ เมื่อเกิดการปฏิสนธิ สเปิร์ม (sperm) ของพ่อที่มีสายดีเอ็นเอที่คัดลอกมาจากเซลล์พ่อครึ่งหนึ่งผสมเข้ากับไข่ (egg) ที่มีสายดีเอ็นเอที่คัดลอกมาจากแม่ครึ่งหนึ่ง สร้างเป็นทารกที่มีสายดีเอ็นเอครบถ้วน mtDNA ที่อยู่ในเซลล์ไข่ของแม่จึงถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูก รุ่นต่อรุ่นไม่สิ้นสุด mtDNA อธิบายกันยืดยาวก็เพราะเพื่อนเฟซบุ้คถามมา ในเซลล์มนุษย์ที่ผสมระหว่างไข่ของแม่กับสเปิร์มของพ่อมียีนทั้งสิ้น 21,000 ยีน โดยประมาณ ในจำนวนนี้แม้มีเพียง 37 ยีนเท่านั้นที่มาจาก mtDNA น้อยทว่าสำคัญมากโดยเกี่ยวข้องกับการสร้างเอนไซม์ที่ทำงานด้านการหายใจของเซลล์ซึ่งเป็นกลไกในไมโตคอนเดรีย ประสิทธิภาพการหายใจของเซลล์มีผลต่ออายุขัย หากเกิดปัญหาย่อมส่งผลให้เกิดหลายโรค เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวานชนิดที่สอง ที่มักพบในผู้สูงอายุ นักวิทยาศาสตร์พบอีกว่าเอนไซม์ที่มีอิทธิพลต่อระบบการหายใจของไมโตคอนเดรียตัวสำคัญมีชื่อว่า sirtuins ซึ่งมีหลายชนิด เอนไซม์กลุ่มนี้พบแล้ว 7 ตัว โดย 3 ตัวสร้างจากยีนใน mtDNAโดยสรุปเอนไซม์หรือโปรตีน sirtuins มีผลต่ออายุขัย การอดอาหารแบบ intermittent fasting หรือแบบถือศีลอดมีผลต่ออายุขัยอย่างที่รู้กันอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างการถือศีลอดกับการยืดอายุขัยส่วนสำคัญเป็นผลมาจากการทำงานของ sirtuins มีงานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นยืนยันว่าการอดอาหารหรือการถือศีลอดส่งผลให้ sirtuins เร่งการทำงานกำจัดของเสียในเซลล์ เร่งกลไกการทำความสะอาดเซลล์ ผลคือเซลล์สะอาดขึ้น ความเครียดและภาวะอักเสบในเซลล์ลดลง เช่นนี้เองที่อาจเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดการถือศีลอดจึงส่งผลให้อายุขัยยืนยาวขึ้น โดยยังมีสุขภาพดี สิ่งหนึ่งที่ควรกังวลคือคำถามที่ว่าการถือศีลอดแบบอิสลามเป็นการลดอาหารหรือลดพลังงานจริงหรือไม่ เนื่องจากมีรายงานวิจัยทางการแพทย์มากมายที่กล่าวว่าการถือศีลอดไม่ช่วยลดน้ำหนักหรือทำให้สุขภาพดีขึ้นหากผู้ถือศีลอดยังบริโภคอาหารมากอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังเวลาละศีลอดไปแล้ว โดยมีคนจำนวนไม่น้อยบริโภคอาหารมากขึ้นทั้งจากงานบุญที่มีถี่ขึ้นช่วงเดือนรอมฎอน รวมทั้งร้านอาหารยามดึกที่มีมากขึ้นในชุมชนมุสลิมช่วงเดือนรอมฎอน ดังนั้น หากอยากได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นที่หวังจากการถือศีลอดเดือนรอมฎอนจำเป็นต้องยับยั้งชั่งใจให้มาก โดยต้องหลีกเลี่ยงไม่บริโภคมื้อดึกหรือมื้อหลังละศีลอด หากอยากมีอายุขัยยืนยาวขึ้น#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #อายุขัย, #sirtuins, #ชะลอวัย, #สุขภาพสมอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *