การถือศีลอดเดือนรอมฎอนกับเรื่องราวของอินสุลิน

ค่ำวานนี้จุฬาราชมนตรีออกประกาศแจ้งแก่มุสลิมในประเทศไทยว่าเดือนรอมฎอน ฮ.ศ.1445 เริ่มวันแรกในวันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2567 ประกาศนี้ยึดตามปฏิทินอาหรับจึงมีความหมายว่าวันที่ 1 รอมฎอนเริ่มต้นตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเย็นวันจันทร์ที่ 11 มีนาคม กิจกรรมของรอมฎอนปีนี้นับกันตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป การละหมาดตะรอเวียะฮฺยามค่ำคืนของรอมฎอนช่วงค่ำวันจันทร์ที่ 11 มีนาคมจึงนับเป็นวันแรกในคัมภีร์อัลกุรอานระบุไว้ในบทที่ 2 อัลบะเกาะเราะฮฺ วรรคที่ 183 ว่า “การถือศีลอดกำหนดแก่พวกเจ้าแล้วเช่นเดียวกับที่ได้กำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้า” หมายความว่าการถือศีลอดถือปฏิบัติกันมานานโดยผู้คนจากหลายศาสนาและความเชื่อก่อนหน้าอิสลาม ซึ่งมีทั้งฮินดู พุทธ เชน ยิว เต๋า คริสต์ กระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมทางศาสนา พิจารณาจากโลกปัจจุบัน กลุ่มชนที่ยังยึดถือการอดอาหารอย่างเคร่งครัดทุกปีคือมุสลิม ซึ่งศาสนาอิสลามกำหนดเป็นหนึ่งในข้อบังคับ ส่วนในศาสนาและความเชื่ออื่นไม่บังคับ ถือบ้างไม่ถือบ้าง การถือศีลอดอาหารซึ่งจงใจไม่กินอาหารนานต่อเนื่องกันนาน 10-16 ชั่วโมงในแต่ละวัน นอกจากช่วยลดน้ำหนักตัวลงได้แล้วยังให้ผลเชิงบวกอื่นๆอีก เป็นต้นว่า ลดการอักเสบ ลดขนาดเอว ลดไขมันในร่างกายโดยไม่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ ร่างกายไม่อ่อนแอลง กล้ามเนื้อในร่างกายไม่ลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงรับรู้กันว่าการถือศีลอดช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้ อิสลามรู้ คนในศาสนาอื่นก็รู้ การถือศีลอดเดือนรอมฎอนอกจากจะเป็นไปตามหลักศรัทธาแล้วยังช่วยให้สุขภาพดีพร้อมกันไปด้วย ทั้งนี้ในอิสลาม การถือศีลอดแสดงถึงความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า เกิดความรู้สึกใกล้ชิดกับพระองค์ ทั้งช่วยสร้างวินัยทางจิตวิญญาณ สอนให้เห็นอกเห็นใจผู้อื่น การถือศีลอดเริ่มขึ้นเมื่อแสงทองเริ่มจับท้องฟ้ายามรุ่งอรุณก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เรียกในภาษาอาหรับว่า “فَجر ฟะญัร” หรือ dawn ส่วนการสิ้นสุดลงของการถือศีลอดเกิดช่วงท้ายของวันในเวลาดวงอาทิตย์ตกที่เรียกว่า “غروب ฆูรูบ” มีอาหารสองมื้อที่แนะนำให้รับประทานในสองช่วงเวลาที่ว่านั้น นั่นคือ “سحور สะฮูร” อาหารมื้อก่อนเช้าหรือใกล้ตะวันขึ้น และ “إفطار อิฟตาร” มื้อหลังดวงอาทิตย์ตกดินหรือ sunset ท่านนบีมุฮัมมัดแนะนำให้รับประทานสะฮูรใกล้เวลาเช้าที่สุด ขณะที่อิฟตาร รับประทานทันทีเมื่อหมดเวลาถือศีลอด ประโยชน์ในข้อแนะนำนี้อธิบายได้ในทางชีวเคมีทางการแพทย์ นั่นคือทั้งสองช่วงเวลาเกี่ยวข้องกับแสงอาทิตย์ที่เริ่มมีขึ้นช่วงเช้า กรณีสะฮูร และแสงอาทิตย์ที่ยังคงค้างอยู่ช่วงอิฟตาร แสงอาทิตย์ทั้งสองกรณี ส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนอินสุลิน ทำให้พลังงานที่ได้จากการย่อยอาหารถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่นำไปสะสม การบริโภคตามแนวทางท่านนบีจึงไม่ทำให้อ้วน หากอ้วนเกิดการสะสมไขมันจะสร้างปัญหาอย่างไร เรื่องนี้เคยเขียนไว้แล้ว #ดรวินัยดะห์ลัน,#drwinaidahlan, #ถือศีลอดรอมฎอน, #อินสุลิน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *