การถือศีลอดโดยจำกัดอาหารอาจลดความเสี่ยงของโรคสมองและอัลไซเมอร์

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นของ อัลบี อีเลียส (Alby Elias) และทีมงานแห่งภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition Review ค.ศ.2023 เดือนเมษายน เนื้อหาน่าสนใจ สรุปได้สั้นๆว่าการอดอาหารแบบรอมฎอนหรืออดอาหารเป็นระยะที่เรียกว่า Intermittent Fasting หรือไอเอฟ ให้ผลดีต่อสุขภาพของสมองโดยช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคประสาทเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ ทั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นการอดอาหารอย่างถูกต้องหรือเปล่า เนื่องจากมีคนจำนวนไม่น้อยถือศีลอดหรืออดอาหารโดยเพียงเปลี่ยนมื้ออาหารเท่านั้น แทนที่จะกินสามมื้อเปลี่ยนเป็นสองมื้อ โดยไม่ลดพลังงานจากอาหารลงเลย บางคนกลับกินกระทั่งได้พลังงานเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ หากเป็นเช่นนั้นคงไม่ช่วยรู้ๆกันอยู่ว่าการอดอาหารแบบไอเอฟหรือการถือศีลอดโดยวิธีจำกัดพลังงาน ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเมแทบอลิซึมหลายอย่าง เป็นต้นว่า ความไวในการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้น สมองปรับตัวไปใช้สารคีโตนบอดี้เป็นแหล่งพลังงาน นอกจากนี้การอดอาหารยังให้ผลดีทางด้านการควบคุมโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะอื่นๆที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยชิ้นนี้เน้นไปที่ผลดีของการถือศีลอดและการจำกัดพลังงานจากอาหารในเรื่องการลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม ซึ่งมีงานวิจัยสนใจเรื่องนี้ค่อนข้างน้อยทีมวิจัยพบว่าเมื่อวิจัยทางเอกสารซึ่งมีจำนวนมากพบว่าการถือศีลอดหรือการจำกัดพลังงานจากอาหารให้ผลดีโดยช่วยลดความเสียหายจากภาวะเครียดออกซิเดชั่นในเซลล์และอวัยวะ ช่วยลดภาวะอักเสบภายในเซลล์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลดีต่อเยื่อบุหลอดเลือด ช่วยให้เซลล์หลอดเลือดและเซลล์ต่างๆปรับตัวดีขึ้นเมื่อเกิดภาวะเครียด การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่เป็นผลมาจากการอดอาหารส่งผลต่อกลไกทางพยาธิสภาพที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอัลไซเมอร์ โดยช่วยลดการสะสมของสารเบต้าอะมีลอยด์ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้โรคอัลไซเมอร์ อีกสิ่งหนึ่งที่พบคือคนทั่วไปเมื่อมีความผิดปกติของหลอดเลือดอาจทำให้ความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์มากขึ้น ดังนั้น การอดอาหารเป็นระยะอย่างเช่นการถือศีลอดแบบอิสลามหรือแบบไอเอฟจะช่วยส่งเสริมสุขภาพของหลอดเลือดซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพสมองช่วยให้ความเสี่ยงต่ออัลไซเมอร์ลดลง การอดอาหารหรือถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เช่น ถือศีลอดแบบ 5 ต่อ 2 หรือถือศีลอดแบบสุนนะฮฺ สองวันต่อสัปดาห์เพิ่มเติมทั้งปี อาจช่วยให้กระบวนการทางพยาธิวิทยาของโรคอัลไซเมอร์หายหรือคืนกลับไปเป็นปกติหรือชะลอลงได้ ทั้งนี้ในงานวิจัยชิ้นนี้แม้ไม่กล่าวถึงการถือศีลอดแบบอิสลามและการถือศีลอดแบบสุนนะฮฺโดยตรง ทว่าสามารถตีความในลักษณะนั้นได้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ไอเอฟช่วยลดสมองเสื่อม, #ไอเอฟกับอัลไซเมอร์, #ถือศีลอด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *