กลไกของกรดไขมันโอเมก้า 3 ในการลดปัญหาหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ

ในทางการแพทย์ รู้กลไกของโรคได้เมื่อไหร่ การรักษาโรคก็ง่าย ปัญหาคือรู้แล้วทว่าไม่ใช่กลไกหลัก ต้องหาทางศึกษากันใหม่ กรณีการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก็เหมือนกัน ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่าโรคหลอดเลือดเนื่องจากไม่ได้เกิดเฉพาะหลอดเลือดหัวใจที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายหรือหัวใจขาดเลือดเท่านั้น ยังเกิดที่หลอดเลือดสมองก่อปัญหาสโตรกหรือสมองวายได้ นอกจากนี้ยังก่อปัญหาหลอดเลือดตีบตันอีกหลายแห่ง กลายเป็นปัญหาที่คร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นอันดับต้นๆในโลก จึงต้องเร่งศึกษากลไกหรือสมุหฐานของโรคให้เข้าใจกันให้มากหน่อยมีงานวิจัยทางการแพทย์และโภชนาการจากทั่วโลกมากเป็นหมื่นชิ้นที่หันมาสนใจกลไกการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด กระทั่งเข้าใจแล้วว่าปัญหาหลักของโรคนี้อยู่ที่ไหน แต่ถึงรู้แล้วเข้าใจแล้วก็ยังไม่เพียงพอ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์อยากรู้ให้ลึกและกว้างขวางที่สุดเพื่อหาหนทางกำจัดโรคร้ายที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคที่ว่านี้ วงการแพทย์รู้ว่าปัญหาใหญ่คือภาวะหลอดเลือดตีบอันเป็นผลจากไขมันเลวรวมถึงโปรตีนและเกลือแร่เข้าไปพอกพูนในผนังหลอดเลือดกระทั่งหลอดเลือดทำงานไม่ได้ ศึกษากันต่อจนเริ่มเข้าใจกลไกการสะสมไขมัน รู้มากจนกระทั่งพบว่ากลไกการเกิดโรคมาจากหลายปัจจัยผสมผสานกัน การรักษาจึงต้องผสมผสานหลายเทคนิค แต่ยิ่งรู้กลไกการเกิดโรคมากเท่าไหร่ กำไรต่อการรักษาโรคก็มีมากเท่านั้นหนึ่งกลไกที่ก่อปัญหาหลอดเลือดตีบคือภาวะอักเสบ (inflammation) ที่เกิดบนหนังหลอดเลือดทำให้ผนังหลอดเลือดแตกนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือด (thrombosis) ปิดบาดแผลกระทั่งทำให้หลอดเลือดที่เดิมตีบอยู่แล้ว อันเกิดจากการพอกพูนของไขมันในหนังหลอดเลือดเกิดภาวะอุดตันเฉียบพลันกระทั่งเลือดไหลไปเลี้ยงเซลล์บริเวณนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเกิดปัญหาหัวใจวายที่พบกันบ่อยๆ ทีมวิจัยจากสถาบัน Korolinska สวีเดน นำโดย ดร.ฮิลดุร อาร์นาร์ดอตตีร (Hildur Arnardottir) ทำการศึกษากลไกการเกิดภาวะหลอดเลือดตีบนำผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Investigation ปลาย ค.ศ.2021 ได้ผลสรุปน่าสนใจว่าด้วยกลไกของกรดไขมันโอเมก้า 3 ในการยับยั้งภาวะหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบที่เกิดขึ้นสิ่งที่พบคือกรดไขมันโอเมก้าสามกระตุ้นกลไกการสร้างโปรตีนชื่อว่า Resolvin ซึ่งเข้าไปกระตุ้นโปรตีนตัวรับ (receptor) GPR32 บนผนังหลอดเลือด ส่งสัญญาณเข้าไปยับยั้งภาวะอักเสบ นั่นเองที่ทำให้กลไกที่นำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดหยุดลง ผลที่ตามมาคือการสะสมไขมันในหลอดเลือดเกิดอาการชะงักงัน กลไกการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันจึงเกิดขึ้นไม่ได้ อย่างนี้เองที่ทำให้กรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยป้องกันปัญหาหลอดเลือดตีบทั้งบริเวณหัวใจและสมองอย่างได้ผล รู้กลไกไว้จะได้บริโภคปลาทะเลกันให้มากขึ้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #resolvin, #omega3, #fishoil, #โรคหัวใจและหลอดเลือด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *