กินเร็วอ้วนเร็ว

อยากรู้ว่าใครมีแนวโน้มที่จะอ้วนเขาว่าให้ดูอัตราเร็วของการกิน คนกินเร็วมักอ้วนเร็ว ขณะที่คนกินช้ามักไม่ค่อยอ้วน ในทางวิชาการพบว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง เนื่องจากความหิวของคนเราเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงกระทั่งถึงระดับหนึ่ง ส่งผลให้กระเพาะสร้างฮอร์โมนกรีลิน (Ghrelin) ส่งไปยังเซลล์ตัวรับในสมองเพื่อปิดสวิทช์อิ่ม เมื่อไม่อิ่มสมองจึงสั่งงานว่าหิว เมื่อหิวผลคือร่างกายออกหาอาหารกินกระทั่งเมื่อกินอาหารไปสักพัก น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง ร่างกายเริ่มสร้างไขมัน กระตุ้นให้สร้างฮอร์โมนเล็พติน (Leptin) หลั่งออกมาจากเซลล์ไขมันส่งผ่านไปยังสมองเพื่อเปิดสวิทช์อิ่ม สมองออกคำสั่งไปทั่วร่างกายว่าอิ่มจึงหยุดกิน ปัญหาของความอ้วนอยู่ตรงที่สมองมักตอบสนองต่อการสูงขึ้นของน้ำตาลได้ค่อนข้างช้านี่เอง การที่สมองสั่งการช้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยกินอาหารเกินกว่าที่ตนเองต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนประเภทที่กินอาหารเร็ว เนื่องจากคนกินเร็ว อาหารเข้าสู่กระเพาะค่อนข้างเร็วจนย่อยไม่ทัน น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นช้ากว่าความเร็วที่อาหารลงกระเพาะ กว่าสมองจะได้รับคำสั่งให้สั่งการว่าอิ่ม พลังงานที่ร่างกายได้รับก็อาจเพิ่มขึ้นไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ซึ่งมากกว่าที่ร่างกายต้องการ หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อย ความอ้วนย่อมถามหาได้ในที่สุดบ่อยครั้งจึงเห็นว่าคนอ้วนหรือคนที่กำลังจะอ้วนมักเป็นคนที่กินอาหารเร็ว ทำให้ได้รับอาหารเกินปกติโดยที่ตนเองไม่รู้ตัว หากต้องการลดความอ้วน จำเป็นจะต้องลดความเร็วของการกินลงให้ได้ ต้องกินอย่างมีสติ ค่อยๆกินค่อยๆเคี้ยว ให้ความเร็วของการสั่งงานของสมองสอดคล้องกับความเร็วที่อาหารเดินทางลงกระเพาะ การกินช้าจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างเหมาะสมโดยอัตโนมัติ ใครที่กลัวอ้วนหรือไม่อยากอ้วนจึงควรฝึกกินอาหารให้ช้าเข้าไว้ ในอังกฤษยุคเก่ามีกลุ่มที่เรียกตนเองว่าเอดเวอร์ตัน (Edwardton) แนะนำให้เคี้ยวอาหาร 32 ครั้งก่อนกลืน พระในนิกายเซ็นของญี่ปุ่นแนะนำให้เคี้ยว 50 ครั้งก่อนกลืน เทคนิคนับการเคี้ยวช่วยให้กินอาหารช้าลง นอกจากนี้การฝึกฝนไม่ให้กินจนรู้สึกอิ่มแต่กินจนรู้สึกว่าไม่หิวแล้วจึงหยุด วิธีการเช่นนี้ช่วยให้กระเพาะมีช่องว่างสำหรับการย่อยบ้าง เป็นเทคนิคง่ายๆช่วยในการลดความอ้วนไปลองทำกันดู #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #กินเร็วอ้วนเร็ว, #กรีลินเล็พติน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *