เนื้อจากพืช (Plant-based meat) ทดแทนเนื้อสัตว์ (Real meat) ได้จริงหรือ

ในห้วงเวลาที่โรคโก-วิดสิบเก้ากำลังระบาดรุนแรงก่อเชื้อกลายพันธุ์รวดเร็ว ผู้คนเริ่มไม่มั่นใจกับสังคมยุคหลังโก-วิดสิบเก้า ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่ สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน นักวิทยาศาสตร์แต่ละสาขาพากันเตรียมรับสังคมยุคหลังโก-วิดสิบเก้ากันยกใหญ่ อย่างด้านเทคโนโลยีอาหาร บางฝ่ายเชื่อว่าหากลดการทำปศุสัตว์ลงโดยทดแทนด้วยพืช ปัญหาโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอาจลดลงได้ พักหลังจึงได้ยินเรื่องราว “เนื้อจากพืช” (Plant-based meat) กันมากขึ้น เชื่อกันว่าในอนาคตผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชจะทดแทนเนื้อสัตว์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ มนุษย์ยุคต่อไปสามารถเลิกบริโภคเนื้อสัตว์ได้อย่างสิ้นเชิง คำถามคือมันเป็นไปได้อย่างนั้นจริงๆหรือทีมวิจัยจากสถาบันสรีรวิทยาโมเลกุล มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) สหรัฐอเมริกา นำโดย ดร.สตีเฟน แวน วเลียต (Stephan van Vliet) ใช้เทคโนโลยีด้านเมแทบอโลมิกส์ (Metabolomics) ล้ำยุคศึกษาเนื้อสัตว์และเนื้อจากพืช ผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Report เดือนกรกฎาคม 2021 ได้ข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช 18 ชนิดที่แต่งรสแต่งองค์ประกอบเหมือนเนื้อมากที่สุด ยังคงแตกต่างจากเนื้อจริงอยู่มาก เมื่อนำเมแทบอลัยต์ 191 ชนิดที่พบในทั้งสองกลุ่มมาศึกษาปรากฏว่ารายละเอียดยังแตกต่างกันถึง 170 ชนิดอีกทั้งเนื้อสัตว์มีสารเมแทบอลัยต์ 22 ชนิดที่ไม่พบในพืช ขณะที่เนื้อจากพืชมีเมแทบอลัยต์ 31 ชนิดที่ไม่พบในเนื้อสัตว์ ส่วนที่แตกต่างกันมีทั้งชนิดของกรดอะมิโน ไดเปปไทด์ วิตามิน ฟีนอลส์ กรดไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว เทคโนโลยีการผลิตเนื้อจากพืชทุกวันนี้ก้าวหน้าไปมาก ความแตกต่างด้านรสชาติและเนื้อสัมผัสระหว่างผลิตภัณฑ์ทั้งสองกลุ่มไม่มีเลย มีการพัฒนาสารฮีโมโกลบินซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลือดสัตว์จากสารที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบจากถั่วเหลืองผสมกับบีทแดง เบอร์รี่ แคร์รอท มีการเติมเส้นใยพืชอย่างเมทิลเซลลูโลสทำให้ผลผลิตมีความเหนียวไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ แถมด้วยวิตามินบี 12 และสังกะสีเพื่อช่วยให้โภชนาการใกล้เคียงกันมากขึ้น ทว่าเมื่อตรวจสอบกันอย่างลึกซึ้งทั้งสองผลิตภัณฑ์ยังแตกต่างกันอยู่มากอย่างที่บอกส่วนที่แตกต่างกันระหว่างเนื้อจริงกับเนื้อจากพืชส่งผลต่อเมแทบอลิซึมด้านการสลายพลังงานจากอาหาร การส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ การสร้างและการสลายโครงสร้างโมเลกุลในร่างกาย รวมถึงความสำคัญต่อการทำงานด้านอื่น เมแทบอลิซึมเหล่านี้นำไปสู่การสร้างและสลายสารประกอบต่างๆมากกว่าแสนชนิด ความแตกต่างระหว่างสองผลิตภัณฑ์ที่แม้พัฒนากระทั่งใกล้เคียงกันอาจนำไปสู่กลไกต่างๆในร่างกายที่แตกต่างกันส่วนจะก่อปัญหากับร่างกายมนุษย์ที่พัฒนาขึ้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์นานนับแสนปีอย่างไร สารหลายชนิดที่พบเฉพาะในอาหารประเภทเนื้อสัตว์อย่าง creatine, spermine, anserine, cysteamine, glucosamine, squalene, และกรดไขมันโอเมก้าสามอย่าง DHA มีผลต่อเมแทบอลิซึมในร่างกายมนุษย์ที่เลิกบริโภคเนื้อสัตว์อย่างไร วิชาการในวันนี้ยังเข้าใจได้ไม่ถ่องแท้ โลกทุกวันนี้แม้มีคนจำนวนไม่น้อยที่บริโภคมังสะวิรัติชนิดเคร่งทว่าคนเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่คนส่วนใหญ่ยังบริโภคเนื้อสัตว์อยู่ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #เนื้อจากพืช

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *