โลกยานยนต์ยุค 5.0 อาจย้อนทางกลับไปสู่ยุคเก่า

โลกของยานยนต์พัฒนากันมานานนับร้อยปี เริ่มจากรถพลังไอน้ำอันนับเป็นยุค 1.0 พัฒนาไปเป็นรถยนต์พลังน้ำมันยุค 2.0 พร้อมๆกับพลังไฟฟ้า ทว่าเทคโนโลยีแบตเตอรีพัฒนาไปได้ไม่มากนัก รถไฟฟ้าจึงไปไม่รอด อีกทั้งน้ำมันยุคเก่าราคาถูกมาก จาก ค.ศ.1975 ถึง 2005 ยาวนานกว่าสามสิบปี ราคาน้ำมันดิบแกว่งในระดับ 40-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทว่าหลังจาก ค.ศ.2006 เป็นต้นมาราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นเป็นติดจรวดกระทั่งทะลุ ถึง 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลใน ค.ศ.2008 เวลานั้นวงการเทคโนโลยีรถยนต์ถกกันมากเรื่องการพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนซึ่งอาจนับเป็นยุค 3.0 โดยเป็นน้ำมันแกสโซลีนผสมแอลกอฮอล์บ้าง รถไฮบริดบ้าง รถใช้พลังงานไฮโดรเจนบ้าง พลังแสงอาทิตย์บ้างโดยไม่มีใครกล่าวถึงรถยนต์ไฟฟ้าสักเท่าไหร่

จู่ๆจาก ค.ศ.2014 เป็นต้นมาราคาน้ำมันกลับดิ่งหัวลงอย่างรุนแรงจนถึง ค.ศ.2017 ราคาน้ำมันเหลือไม่ถึง 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บริษัทรถยนต์ทั้งหลายพากันเลิกคิดถึงรถยนต์ยุค 3.0 ทว่าสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของ ค.ศ.2015 รถใช้พลังงานจากแบตเตอรีชนิดปลั๊กอินหรือเติมไฟฟ้าได้ยี่ห้อ Tesla ออกมาเปิดโฉมบนท้องถนนเป็นครั้งแรก นำรถยนต์ก้าวข้ามเข้าสู่ยุค 4.0 สร้างยอดขายถล่มทลายกระทั่งไม่มีบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งไหนในโลกที่ไม่ยอมหันไปพัฒนารถไฟฟ้าเข้ามาแข่ง ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งใช้แบตเตอรีและชาร์ตไฟด้วยวิธีอื่นส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบหมดสิทธิ์ที่จะขยับหัวเพิ่มสูงขึ้นได้อีก

เทคโนโลยีในโลกรถยนต์กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว แต่แล้วโลกกลับต้องช็อกหนักอีกครั้งหนึ่งเมื่อรถยนต์เริ่มเข้าสู่ยุคไร้คนขับอย่างรวดเร็ว โลกยานยนต์ก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 Waymo ใน ค.ศ.2017 สร้างปรากฏการณ์ที่ไม่ต่างจาก Tesla ใน ค.ศ.2015 สักเท่าไหร่ ใครจะไปเชื่อว่าเพียงแค่สองปี โลกเทคโนโลยีด้านยานยนต์พลิกโฉมไปได้ไกลถึงขนาดนี้ รถยนต์ไร้คนขับ ทุกอย่างสั่งการผ่านคำพูดรวมทั้งสมาร์ทโฟนได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการเรียกรถแท็กซีไร้คนขับมารับในทุกจุดของเมืองเพื่อไปส่งยังทุกจุดของเมือง ทุกการเคลื่อนไหวถูกกำหนดด้วยจีพีเอส สะดวกสบายอย่างนี้แล้ว ผู้คนจึงแทบไม่จำเป็นที่จะต้องมีรถส่วนตัวอีกต่อไป

ทว่าทุกการเปลี่ยนผ่านในยุคเทคโนโลยีคงต้องไม่ลืมว่าท้ายที่สุดกลับถูกท้าทายด้วยโลกยุคเก่าเสมอ ยุคเก่าที่ว่านั้นคือความรู้สึกของผู้บริโภคซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์จะดีแค่ไหน เฉียบขาดเพียงไร หากผู้บริโภครับไม่ได้ ผลิตภัณฑ์นั้นก็ไปไม่ถึงฝั่ง ไปๆมาๆรถไร้คนขับเริ่มพบอุปสรรคจากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภควัยสูงอายุที่มีมากขึ้นในสังคมโดยพบว่าคนกลุ่มนี้ไม่ไว้ใจความปลอดภัยของรถไร้คนขับเลย ทั้งรู้สึกด้วยว่าการนั่งรถที่มีคนขับเป็นมนุษย์ให้ความรู้สึกอบอุ่นกว่า พูดคุยกันได้ สอบถามหรือถกปัญหาการเมืองกันได้ มีกำไรจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อีกต่างหาก ความรู้สึกอย่างนี้เองที่ทำให้ยุคของหนังสือกระดาษยังไม่ยอมล้มหายตายจากไปทั้งๆที่เคยคาดกันว่าอีบุ๊คจะเข้ามาแทนที่หนังสือกระดาษอย่างเต็มตัว แต่ในข้อเท็จจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น โลกยุค 1.0 หรือ 2.0 ยังคงเป็นเสน่ห์อยู่ในยุค 5.0 ชนิดที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#รถไร้คนขับ#เทคโนโลยียานยนต์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *