“โรคอ้วนลงพุง” หรือโรคเมแทบอลิกดูแลกันอย่างไร ตอนที่ 7

ดร.โจเซฟ คาร์ลสัน (Joseph Carlson) แห่งภาควิชาโภชนาการการกีฬาและหัวใจและหลอดเลือด มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกาและคณะทำงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Dietetic Association ปลาย ค.ศ. 2011 ให้ข้อมูลในเรื่องการบริหารจัดการเรื่องพลังงานจากอาหารได้ค่อนข้างน่าสนใจ โดยทีมนักวิจัยให้ข้อสรุปว่าการบริหารโดยเน้นอาหารที่มีใยอาหารสูง มีสมดุลทางโภชนาการ เน้นพืชผักเป็นหลักจะให้ผลต่อสุขภาพดีกว่าไปเน้นในเรื่องการลดน้ำตาล ลดไขมัน ลดคอเลสเตอรอลอย่างที่นิยมทำกันอยู่

ทีมนักวิจัยพบว่าเมื่อเน้นการจัดการอาหารไปทางด้านใยอาหารสูง โดยไม่ต้องไปสนใจเรื่องคอเลสเตอรอลหรือไขมัน ผลที่ตามมาคือการลดความเสี่ยงต่อโรคเมแทบอลิกได้โดยอัตโนมัติเพราะใยอาหารที่เพิ่มขึ้นทำหน้าที่เป็นเสมือนระบบเขื่อนหรือพนังที่ช่วยชะลอการทะลักล้นของน้ำ ขณะเดียวกันใยอาหารที่เพิ่มขึ้นนอกจากชะลอการดูดซึมของไขมันและน้ำตาลได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มมวลอาหารทำให้อาหารทั้งมื้อกลายเป็นอาหารพลังงานต่ำช่วยกีดกันอาหารประเภทให้พลังงานสูงไปได้ในเวลาเดียวกัน ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งคือพืชผักใยอาหารสูงมักอัดแน่นไปด้วยวิตามิน เกลือแร่และสารไฟโตนิวเทรียนท์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของหัวใจ จึงช่วยลดภาวะเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งความดันโลหิตสูง ไขมันผิดปกติลงไปได้ การบริหารจัดการด้านโภชนาการต้านโรคเสื่อมจึงควรให้ความสำคัญกับใยอาหารและพืชผักให้มากขึ้น

นับวันคนยุคใหม่ก็ยิ่งบริโภคใยอาหารรวมทั้งพืชผักน้อยลง นักวิจัยกลุ่มนี้ให้ข้อมูลว่าเด็กรุ่นใหม่เลือกอาหารขยะมากกว่าที่จะเลือกอาหารปกติ ร้อยละ 30 ของเด็กกลุ่มนี้นิยมดื่มน้ำอัดลม รวมทั้งขนมขบเคี้ยวที่มีน้ำตาลสูง เด็กวัยรุ่นที่ชอบผักมีน้อยลงทุกวัน อุตสาหกรรมอาหารก็มักจะไม่ใส่ใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารประเภทที่มีใยอาหารสูง ขณะเดียวกันใยอาหารมักมีรสชาติไม่อร่อย ไม่ชวนกิน ปัญหาที่ว่านี้กลายเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้เด็กรุ่นใหม่มีปัญหาโรคเมแทบอลิกเพิ่มมากขึ้น โดยในงานวิจัยพบว่าเด็กวัยรุ่นร้อยละ 70 มีปัญหาใดปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับโรคเมแทบอลิกนั่นคืออ้วนลงพุง คอเลสเตอรอลสูง ไตรกลีเซอไรด์สูง น้ำตาลสูง ความดันโลหิตสูง

ตลอดสิบปีที่ผ่านมาเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เด็กวัยรุ่นมีปัญหาโรคเมแทบอลิกเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ขณะที่เด็กไทยเองตัวเลขไม่น่าจะต่างกันสักเท่าไหร่ วิธีแก้อยู่ที่ฝ่ายนโยบายสาธารณสุขและอุตสาหกรรมต้องทำงานร่วมกันหาหนทางเพิ่มอาหารประเภทที่เป็นที่นิยมบริโภคให้มีใยอาหารสูงขึ้น รสชาติดีขึ้น ได้รับการยอมรับมากขึ้น ฝ่ายการศึกษาก็ต้องช่วยกันให้ข้อมูลแก่เด็กวัยรุ่นให้หันมาสนใจพืชผักกันหน่อย ที่สำคัญต้องเร่งทำกันตั้งแต่วันนี้ก่อนที่ในอนาคตจะเต็มไปด้วยผู้ป่วยโรคเมแทบอลิก ถึงวันนั้นเข้าจริงทุกอย่างมันสายไปหมดแล้ว #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#โรคอ้วนลงพุง#โรคเมแทบอลิก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *