โรคระบาดกับศิลปะของการรายงานต่อประชาชน

ผมโชคดีที่มีโอกาสทำงานกับผู้ใหญ่หลายท่าน มีอยู่ท่านหนึ่งคือ นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ เวลานั้นท่านเป็นเลขาธิการ อย. กระทรวงสาธารณสุข ส่วนผมช่วย อย.ในฐานะที่ปรึกษา ประชุมด้วยกันทีไร คุณหมอวิชัยมักมีเรื่องสนุกๆมาเล่าให้ฟังเสมอ ครั้งหนึ่งท่านเล่าว่าพนักงานบริษัทแจ้งซีอีโอว่ามีหนูดำอยู่ในห้องมืด ซีอีโอสั่งให้พนักงานสามคนสลับกันเข้าไปจับหนู คนแรกเป็นนักวิชาการออกมารายงานว่าหาหนูไม่เจอ คนที่สองเป็นผู้อำนวยการบริหารรายงานว่ายังจับหนูไม่ได้แต่ส่งแมวเข้าไปแล้ว คนที่สามเป็นนักการเมืองรายงานว่าเรื่องหนูดำในห้องไม่มีอะไรน่าห่วง จัดการได้เรียบร้อย สรุปเอาเป็นว่าทั้งสามคนไม่มีใครจับหนูได้เลย ในฐานะซีอีโอต้องนำผลสรุปไปรายงานให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบ คุณหมอวิชัยบอกว่าวิธีคิดและวิธีทำงานของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน การรายงานถือเป็นศิลปะ ผู้ถือหุ้นนั้นเหมือนประชาชน นักบริหารจำเป็นต้องรู้วิธีการรายงานในสถานการณ์เช่นนี้

วันวานฟังรายงานของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องโรคโควิด-19 แล้วคิดถึงคุณหมอวิชัยขึ้นมาตะหงิดๆ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคคาดการณ์สถานการณ์โรคจากการใช้เทคนิค Compartmental Model ได้ข้อสรุปว่าหากสถานการณ์รุนแรงที่สุดจะมีคนไทยติดเชื้อ 16.8 ล้านคน หากควบคุมได้จะมีคนไทยทยอยติดเชื้อจนถึงปลายปี 2564 รวม 8 แสนคน ทว่าเมื่อดูอาการตื่นตระหนกของสังคมในเวลานี้ที่แม้มีคนไทยติดเชื้อเพียง 2-3 ร้อยคน เสียชีวิต 1 คน นึกภาพไม่ออกเลยว่ารายงานลักษณะนี้จะสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมได้มากน้อยแค่ไหน การนำเสนอข้อมูลตรงไปตรงมานั้นถูกต้องแล้ว แต่ประชาชนซึ่งไม่เข้าใจข้อมูลดีนักอาจตีความไปอีกทางหนึ่ง ขอไม่วิจารณ์ก็แล้วกัน อยากให้ดูรายงานเรื่องโรคหวัดใหญ่-2009 ที่ระบาดระดับ Pandemic ช่วง พ.ศ.2552-2553 รุนแรงระดับเดียวกันกับโควิด-19 ลองเปรียบเทียบกันดู

รายงานผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากหวัดใหญ่-2009 ในประเทศไทยขึ้นกับรายงาน รายงานจากหน่วยงานนานาชาติ ผู้ติดเชื้อในประเทศไทย 28,939 คน เสียชีวิต 192 ราย (https://en.wikipedia.org/wiki/2009_flu_ pandemic_in_Asia) เป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับรายงานจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 32,953 คนเสียชีวิต 201 ราย (https://www.thairath.co.th/content/65290) ขณะที่รายงาน “การสาธารณสุขไทย 2551-2553” ของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2554 มีบทสรุปว่าคนไทยติดเชื้อหวัดใหญ่ 2009 คาดว่าประมาณ 10 ล้านคน ผู้เสียชีวิต 500 ราย (https://www.hfocus.org/content/2015/09/10802) โรคหวัดใหญ่ 2009 นั้นเมื่อถึงเดือนสิงหาคม 2553 จู่ๆก็อันตธานไปเสียเฉยๆ ทั้งๆที่คนไทยทั้งประเทศได้รับวัคซีนไปไม่ถึงสามแสนรายเสียด้วยซ้ำ ช่วงเวลานั้นเท่าที่จำได้สังคมไม่ออกอาการตื่นตระหนกแต่อย่างใด แต่หากการรายงานโรคเวลานั้นเป็นไปในลักษณะเดียวกับโควิด-19 เศรษฐกิจอาจพังพินาศไปในระดับเดียวกันกับปีนี้ก็ได้ จะโทษข้าราชการก็คงไม่ถูก เพราะศักยภาพของสังคมออนไลน์ใน พ.ศ.2552 เทียบไม่ได้เลยกับในปีนี้ คิดจะอมพะนำข้อมูลไว้คงไม่มีทางสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ก็น่าจะมีศิลปะในการรายงานที่ดีกว่านี้มิใช่หรือ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *