โปรตีนต้องเหมาะสม น้อยไปก่อโรค มากไปสร้างปัญหา

ปัจจุบันในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์โปรตีนสูงอยู่มาก ทั้งในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโปรตีน และอีกสารพัด โฆษณาประชาสัมพันธ์กระทั่งสร้างความเชื่อผิดๆที่ว่าเสริมโปรตีนยิ่งมากยิ่งดี อันที่จริงโปรตีนคือสารอาหารหลักซึ่งร่างกายต้องการปริมาณที่เหมาะสม จำเป็นในแทบทุกปฏิกิริยาทางชีวเคมีในร่างกาย มีบทบาทสำคัญในการสร้างโครงสร้าง สนับสนุนการทำหน้าที่ของเซลล์ ช่วยให้เซลล์สื่อสารได้ ทั้งช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ใครได้รับโปรตีนไม่เพียงพอย่อมเกิดผลเสียต่อสุขภาพ ทว่ามีคำถามว่าปริมาณที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่หน่วยงานโภชนาการอเมริกันแนะนำว่าหากต้องการให้ร่างกายรักษากล้ามเนื้อไว้ ควรบริโภคโปรตีน 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากต้องการสร้างกล้ามเนื้อหรือพักฟื้นจากอาการป่วย อาจได้รับโปรตีน 1.2-2.0 กรัมโปรตีนต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว นักกีฬา นักเพาะกาย หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร คนชรา หรือผู้ป่วยผ่าตัดอาจเสริมโปรตีนมากกว่า 2 กรัมต่อกิโลกรัมได้แต่ต้องไม่มากไปกว่านั้น เนื่องจากเสี่ยงต่อโรคบางโรค เช่น โรคตับ โรคไต แม้แต่เซลล์มะเร็งหากได้รับโปรตีนมากไปอาจเร่งการเติบโตของมะเร็ง ดังนั้นโปรตีนมากเกินไปจึงใช่ว่าดีการได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ ปัญหาที่ตามมาคือเซลล์กล้ามเนื้อลดลง เจ็บป่วยง่ายขึ้นเนื่องจากภูมิต้านทานลดลง ความแข็งแรงและความหนาแน่นของกระดูกลดลง เนื่องจากร่างกายลดการสร้างโปรตีนชนิดคอลลาเจน เกิดความผิดปกติของสีผิวและเส้นผมซึ่งจางลง เนื่องจากการสร้างเม็ดสีลดลง ข้อเสียอีกประการหนึ่งที่นักโภชนาการอ้างถึงบ่อยในระยะหลังคือการขาดโปรตีนทำให้ความหิวเพิ่มขึ้น เนื่องจากโปรตีนช่วยให้อิ่ม หากกินอาหารขาดโปรตีน ความรู้สึกอิ่มเกิดได้ช้า ร่างกายจึงชดเชยด้วยการกินอาหารมากขึ้น การกินอาหารขาดโปรตีนมีส่วนที่ทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา ในสังคมที่ยากจนหลายแห่งพบปัญหาโรคอ้วน เนื่องจากอาหารมีโปรตีนต่ำ ทำให้อิ่มช้า จึงต้องกินอาหารเพิ่ม ร่างกายได้รับพลังงานจากแป้งไขมันเพิ่มขึ้น โรคอ้วนที่พบมากในปัจจุบันจึงมักมาจากการได้รับคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปหรือได้รับโปรตีนต่ำหรือทั้งสองอย่าง เรื่องของโปรตีนแม้แนะนำว่าควรระวังอย่าให้ขาด ทว่าการได้รับโปรตีนมากเกินไปอาจสร้างปัญหาใหญ่ได้ โรคบางโรคอย่างเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ วงการแพทย์แนะนำให้ลดโปรตีนลง เพื่อช่วยให้กระบวนการรักษาดีขึ้น เนื่องจากโปรตีนต่ำช่วยลดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง งานวิจัยที่ศึกษาในหนูทดลองโดย ดร.สุมีต โซลังกิ (Sumeet Solanki) และคณะจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนตีพิมพ์ในวารสาร Gastroenterology เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2022 สรุปไว้ชัดเจนอย่างนั้น ใครคิดจะเสริมโปรตีนมากๆเกินกว่า 2 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน ปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการหน่อยก็ดี #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #โปรตีนไม่น้อยหรือมากเกินไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *