แว่นจดจำคน

คนจำนวนหนึ่งจดจำหน้าคนชื่อคนได้แม่นยำอย่างไม่น่าเชื่อ ขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งมีความจำยอดแย่ทั้งเกี่ยวกับหน้าคนและหรือชื่อคน ผมจัดอยู่ในกลุ่มหลังนี้ อันที่จริงในโลกยุคคอมพิวเตอร์ มีเครื่องไม้เครื่องมืออยู่มากที่จะช่วยการจดจำชื่อคน นามบัตรนั่นหนึ่งล่ะ หรือ facebook ที่ให้ข้อมูลส่วนตัวของคนที่เรารู้จักได้แทบทั้งหมด Instagram และอีกหลายโปรแกรมล้วนช่วยทางด้านการจดจำชื่อคนหน้าคนได้ทั้งนั้น อย่างไรก็ตามถึงเวลาเจอะเจอกันจริงๆชนิดทันทีทันควันเครื่องช่วยเหล่านั้นไม่สามารถหยิบมาใช้ได้ สุดท้ายก็เจอปัญหาเดิมคือนึกชื่อไม่ออก เหตุการณ์อย่างนี้เกิดอยู่บ่อยๆ

มาถึงยุคดิจิตอลในวันนี้ มีแว่นวิเศษออกมานำเสนออย่างเช่นแว่นจากบริษัทกูเกิล เป็นแว่นอิเล็คโทรนิกส์ผลิตจากโรงงาน Foxconn มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เล็กๆที่มีหน่วยความจำใหญ่ขนาด 16 GB ทำเป็นแถบเล็กๆคล้ายแฟลชไดรฟ์ติดไว้ข้างแว่นเสมือนเป็นการสวมคอมพิวเตอร์ไว้ข้างตาทำนองนั้น ออกคำสั่งให้แว่นตาอิเล็คโทรนิกส์ส่งข้อมูลให้ผ่านการออกคำสั่งด้วยคำพูด เหลือบตาไปมองแถบคอมพิวเตอร์ที่ว่านี้หน่อยเราก็ได้ข้อมูลตามที่ต้องการ เพราะมีการเชื่อมข้อมูลเข้ากับอินเตอร์เน็ต ให้ความสะดวกสบายถึงระดับนั้น

แต่แว่นกูเกิลไม่ใช่อุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ที่ช่วยในการจดจำหน้าคน อุปกรณ์จดจำหน้าคนที่จะกล่าวถึงมีชื่อเรียกว่า TechCrunch เป็นอุปกรณ์หรือแกดเจ็ทที่ทำเป็นแถบอิเล็คโทรนิกส์เอาไว้ติดข้างแว่นกูเกิล แทนหรือเสริมการทำงานของแกดเจ็ทของกูเกิล แกดเจ็ทที่ว่านี้ผลิตจากบริษัท Lambda Labs ซานฟรานซิสโก ความสามารถคือมันทำหน้าที่ในการจดจำหน้าและชื่อคนโดยการเชื่อมข้อมูลเข้ากับอินเตอร์เน็ตหรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ภายในหน่วยความจำของแกดเจ็ท หากได้เห็นหน้าใครแล้ว แกดเจ็ทจะบันทึกหน้าคนๆนั้นไว้ด้วยกล้องพิเศษจากนั้นจึงนำข้อมูลไปเทียบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่โดยผ่านโปรแกรมเอพีไอจดจำหน้า แค่เสี้ยววินาทีก็อ่านผลได้เป็นที่เรียบร้อย แค่เหลือบตาไปดูทางจอของแกดเจ็ทก็สามารถอ่านข้อมูลต่างๆที่เป็นตัวอักษรให้รายละเอียดตามที่ต้องการ บอกเสร็จเรียบร้อยว่าคนๆนี้คือใคร อาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยซ้ำว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร รู้จักกันที่ไหน ขึ้นกับข้อมูลที่เก็บไว้หรือเป็นข้อมูลที่มีอยู่ในโซเชียลมีเดีย

แกดเจ็ดอย่างนี้ใครๆก็อยากได้ แต่ทางกูเกิลเองยังสงวนท่าทีที่จะเอาแว่นตาพิเศษของตนเองเข้าไปเชื่อมต่อกับแกดเจ็ท TechCrunch เป็นเพราะกฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวคุ้มครองบุคคลค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันทางรัฐสภาอเมริกันเองยังมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับเทคโนโลยีที่อาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคลระดับนี้ สุดท้ายบอกตามตรงว่ายังไม่ได้ข่าวเทคโนโลยีจดจำหน้าคนผ่านแว่นตาที่ว่านั้นอีกเลย หากออกมาจำหน่ายเมื่อไหร่ อาจจะแคะกระปุกไปหาซื้อ เพราะปัญหาความจำหน้าคนชื่อคนของผมนับว่าเลวร้าย เจอใครแล้วไม่ทักทายอย่าโกรธขึ้งก็แล้วกัน #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#แว่นตาจดจำหน้าคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *