แบคทีเรียในลำไส้กับสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคไม่ติดต่อที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลกคือโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือ CVD บางครั้งเรียกว่าโรคหลอดเลือดซึ่งแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่คือโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุของโรคที่เคยเชื่อกันมาตลอดคือภาวะคอเลสเตอรอลสูงในเลือดโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอเลสเตอรอลชนิด LDL ข้อแนะนำในการป้องกันคือลดการบริโภคอาหารคอเลสเตอรอลสูง และอาหารกลุ่มไขมันอิ่มตัว หนึ่งในอาหารที่ก่อเป็นปัญหามากที่สุดคือเนื้อแดงทั้งเนื้อวัว เนื้อแพะแกะ เนื้อหมู เนื่องจากเป็นแหล่งของคอเลสเตอรอลและกรดไขมันอิ่มตัว เชื่อกันอย่างนั้นการป้องกันรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด จำเป็นต้องหาสมุฏฐานหรือสาเหตุที่แท้จริงของโรคให้ได้ หากหาไม่พบก็เหนื่อยสักหน่อย จำต้องแก้ปัญหาในส่วนที่เป็นปัจจัยรอง ดังเช่น งดบุหรี่ ลดแอลกอฮอล์ ลดความดันโลหิต ปรับพฤติกรรมการบริโภค เพิ่มการออกกำลังกาย เพิ่มคุณภาพการนอน เป็นทำนองขี่ม้าเลียบค่าย ศึกษากันอย่างนี้มานานกว่าครึ่งศตวรรษ เวลานี้เริ่มมีความหวังแล้วว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือเป็นสาเหตุสำคัญ นั่นคือสารเคมีที่แบคทีเรียในทางเดินอาหารผลิตออกมาทุกครั้งที่มีการบริโภคเนื้อแดง สารเคมีกลุ่มนี้คือปัจจัยสำคัญ นอกจากก่อปัญหาโรคหัวใจแล้ว ยังก่อปัญหาโรคอื่นๆได้อีก งานวิจัยที่ว่านี้ไม่ใช่งานใหม่ คราวนี้ทีมวิจัยทำการยืนยันอีกครั้ง โดยนำผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Arteriosclerosis, Thrombosis, and Vascular Biology (ATVB) ของ the American Heart Association ปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2022 นี่เอง สิ่งที่ทีมวิจัยชุดนี้พบซึ่งเป็นการยืนยันงานของผู้อื่นคือเมื่อเมื่อบริโภคเนื้อแดง สารเคมีบางตัวในเนื้อแดง เช่น คาร์นีทีน ถูกแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่เปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลกลายเป็นสารหลายตัว หนึ่งในนั้นคือ TMAO หรือ trimethylamine N-oxide ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอีกบางตัว เช่น gamma-butyrobetaine และ crotonobetaine งานวิจัยนี้จะนำไปสู่การพัฒนายาและวิธีการรักษาทั้งทางโภชนาการและทางเทคโนโลยีที่ถูกต้องและตรงกับปัญหา ไม่สะเปะสะปะเช่นในอดีต คงต้องรออีกสักพักเพื่อให้ได้วิธีการใหม่ๆ รอหน่อยก็แล้วกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #โรคหัวใจและหลอดเลือด, #แบคทีเรียในลำไส้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *