แนวทางใหม่ในการดูแลโรคเมแทบอลิก (โรคอ้วน เบาหวาน และโรคหัวใจ)

รู้กันมานานว่ากลุ่มโรคที่เรียกว่าโรคเมแทบอลิก (Metabolic diseases) ที่พบบ่อยที่สุดในวันนี้ ได้แก่ โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานประเภทที่สอง มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โรคอ้วนทำให้เกิดเบาหวานประเภทที่สอง และผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่สองเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไป 2-4 เท่า นักวิจัยทางการแพทย์บางกลุ่มอธิบายกลไกความสัมพันธ์เหล่านี้ว่าเกิดจากกรดไขมันอิสระที่เพิ่มสูงขึ้นในเลือดของผู้ป่วยทั้งสามกลุ่ม กรดไขมันอิสระในโรคอ้วนนี่เองเป็นผลให้เกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินสุลิน สุดท้ายทำให้เกิดเบาหวาน กรณีของผู้ป่วยเบาหวาน กรดไขมันอิสระในเลือดนำไปสู่ภาวะอักเสบของหลอดเลือด สุดท้ายทำให้เกิดการปริแตกกระทั่งเกิดภาวะลิ่มเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตันตามมา สรุปเอาเป็นว่ากรดไขมันอิสระคือตัวกลางของปัญหา แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆหรือเพื่อทำการพิสูจน์ในเรื่องนี้ นพ.เบน แมคแนลลี (Ben D. McNally) และทีมงานแห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยลีดส์ ร่วมกันทำงานวิจัยได้ผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ค.ศ.2022 สรุปออกมาได้น่าสนใจ ผลการศึกษาอาจเป็นแนวทางในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคเมแทบอลิกในอนาคตว่ากันอย่างนั้น สิ่งที่ทีมวิจัยทีมนี้พบคือโรคอ้วนซึ่งปัจจุบันกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก นำไปสู่ภาวะไขมันสูงในเลือด ซึ่งสร้างความเครียดให้เกิดในเซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ที่เครียดเหล่านี้เองสามารถส่งสัญญาณต่อไปยังเซลล์อื่นได้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยลีดส์ค้นพบว่าสัญญาณที่เรียกว่า “เซราไมด์” (Ceramides) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการป้องกันภาวะเครียดในระยะสั้น เนื่องจากสัญญาณเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ออกแบบมาเพื่อลดความเครียดในเซลล์ ทว่าในกรณีของโรคที่เกิดจากภาวะเมแทบอลิกซึ่งนับเป็นภาวะระยะยาว สัญญาณที่ว่านี้สามารถทำลายเซลล์ กระทั่งทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นได้ เป็นผลให้อาการป่วยทรุดลงเป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าภาวะไขมันในเลือดสูงส่งผลให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ มีส่วนทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเมตาบอลิซึม รวมถึงโรคเบาหวานประเภทสอง รู้ว่ากรดไขมันในเลือดคือปัญหา แต่ไม่รู้ว่ามีสารตัวไหนเป็นตัวกลาง ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีดส์พบว่าตัวกลางที่ก่อปัญหาคือ “เซราไมด์” ซึ่งเชื่อมโยงภาวะพิษจากไขมัน (lipotoxicity) เข้ากับความเครียดที่เกิดขึ้นใน endoplasmic reticulum ในกล้ามเนื้อโครงร่าง ความรู้ใหม่นี้อาจนำไปสู่แนวทางใหม่ในการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาเบาหวานประเภทที่สองและโรคหัวใจและหลอดเลือด เรื่องอย่างนี้ต้องอดใจรอแนวทางการป้องกันและรักษากันหน่อย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #โรคเมแทบอลิก, #เซราไมด์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *