แก้ไขปัญหาแรงงานในอนาคต ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพประชากรเพศหญิง

อายุเฉลี่ยของคนไทยใน พ.ศ. 2566 อยู่ที่ 77.4 ปี โดยผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2.5 ปี ค่ามัธยฐานอายุของคนไทยอยู่ที่ 40.2 ปี สูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน สังคมไทยจึงอยู่ในกลุ่มสังคมผู้สูงอายุ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจึงลดต่ำลง ช่วงกลางศตวรรษที่ 21 เป็นไปได้ว่าหลายประเทศในอาเซียนพากันก้าวขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วแต่ประเทศไทยอาจยังติดแหง่กเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทว่าทั้งหมดเป็นแค่ตัวเลขคาดการณ์ อย่าเพิ่งท้อถอย ยังมีหลายปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้ อาจดีกว่าเพื่อนบ้านเสียด้วยซ้ำเมื่อห้าสิบปีมาแล้ว ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ เวียตนามมีประชากรใกล้เคียงกัน มาถึงวันนี้ฟิลิปปินส์มีประชากรมากกว่าประเทศไทยเกือบ 60% ขณะที่เวียตนามมีประชากรมากกว่าประเทศไทย 40% มาเลเซียกับอินโดนีเซียเองมีสัดส่วนประชากรวัยทำงานมากกว่าประเทศไทย นโยบายลูกมากยากนานของประเทศไทยในอดีตให้ผลสัมฤทธิ์ดีเกินไป การรณรงค์เพื่อให้ผู้คนมีลูกมากขึ้นในเวลานี้ไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไหร่ ลองไปดูจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ นโยบายลักษณะนี้ยากที่จะประสบความสำเร็จ ดังนั้นอย่าคาดหวังอะไรมากนักว่าวันหนึ่งประเทศไทย ผู้คนจะเปลี่ยนทัศนคติด้านการสร้างครอบครัว หาหนทางแก้ปัญหาทางด้านอื่นจะดีกว่าเทคโนโลยีในโลกพัฒนาไปเร็วมาก สังคมหุ่นยนต์ เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ก้าวเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์อย่างรวดเร็ว สังคมในอนาคตจึงไม่ต้องการแรงงานมากมายอย่างในอดีต แรงงานที่ขาดไปในสังคมสามารถทดแทนได้ด้วยแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีระดับการพัฒนาที่ต่ำกว่า นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์มองโลกสำหรับประเทศไทยในแง่บวกอย่างนั้น ทั้งนี้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ให้เป็นประชากรคุณภาพ มุ่งเน้นด้านการพัฒนานวัตกรรมไม่ใช่อาศัยความเป็นประเทศรับจ้างผลิตเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต ต้องเร่งพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยเริ่มดำเนินการแล้วด้วยสัดส่วนงบประมาณวิจัยที่เพิ่มมากกว่าสองเท่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา สูงกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้านอีกส่วนหนึ่งที่เป็นโอกาสของประเทศไทยคือ ความเท่าเทียมระหว่างเพศในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยดีกว่าประเทศอื่นในอาเซียน สตรีในประเทศไทยที่ดำรงตำแหน่งงานระดับสูงมีสัดส่วนสูงกว่าหลายประเทศ เพศหญิงแม้มีโอกาสในตลาดแรงงานน้อยกว่าเพศชายแต่ช่องว่างขยับลดลงเรื่อยๆ นอกจากนี้มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดร่วมกับมหาวิทยาลัย UC San Francisco ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Internal Medicine เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2023 ระบุว่านับวันเพศหญิงจะยิ่งมีอายุยืนยาวกว่าเพศชาย ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศมีน้อยย่อมได้เปรียบ สรุปเอาเป็นว่า ประเทศไทยยังมีความหวังหากจะต้องแข่งขันในอนาคต ทั้งนี้ด้วยเงื่อนไขว่าต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของสตรีให้มากขึ้น เพิ่มโอกาสด้านแรงงานให้กับคุณเธอเหล่านั้นให้ได้ #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #femaleceo, #ปัญหาแรงงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *