เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับดวงจันทร์ในอัลกุรอาน

“ข้าขอยืนยันการสาบานด้วยยามตะวันยอแสง และด้วยกลางคืนที่มันรวมให้ชุมนุมกัน และด้วยดวงจันทร์เมื่อมันเต็มดวง” อัลอินซิก๊กอก 84: 16-18 นี่คือถ้อยความในอัลกุรอาน ในภาษาอาหรับคำว่าดวงจันทร์ใช้คำว่า “ฆอมัร” (قمر) โดยอัลกุรอานระบุว่าจันทร์เพ็ญเห็นได้ในยามพลบค่ำจนใกล้เช้า ความที่โลกเป็นทรงกลมไม่แบนราบ จันทร์เสี้ยวยามกลางวันจึงพอเห็นได้ทว่าเป็นไปได้ยากที่จะเห็นจันทร์เพ็ญ ข้อเท็จจริงทางธรณีวิทยาเป็นอย่างนั้น ดร.ซักลูล อัลนัจจาร์ (Zaghlool Al-Najjar) นักธรณีวิทยาชาวอียิปต์ระบุว่าในคัมภีร์อัลกุรอานเอ่ยคำว่าดวงจันทร์ไว้ 28 ครั้ง แสดงถึงความสำคัญของดวงจันทร์ สิ่งที่เห็นบ่อยครั้งคือจันทร์เพ็ญมีสีเหลืองสดใสกลมโตสวยงาม ทว่ามีความเข้าใจผิดว่าบางปีเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์ที่เรียกว่า “บลูมูน” (Blue moon) อันที่จริงคำว่าบลูในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสีน้ำเงินแต่หมายถึงการมีจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองในเดือนตามสุริยคติเดียวกัน ภาษาไทยใช้คำว่า “ทุติยเพ็ญ” หมายถึงการเกิดจันทร์เพ็ญหลายครั้งเกินกว่าปกติในปีเดียวกัน ที่ว่าปกติคือในหนึ่งปีสุริยคติจะมีคืนวันเพ็ญหรือจันทร์เต็มดวง 12 ครั้ง ทว่าบางปีจันทร์เต็มดวงเกิดขึ้นมากกว่า 12 ครั้ง บางปีอาจมากถึง 14 ครั้ง บลูมูนในที่นี้จึงมิได้หมายถึงดวงจันทร์สีน้ำเงิน อันที่จริงปรากฏการณ์บลูมูนเกิดขึ้นหลายครั้งในรอบหลายปี ทั้งนี้เนื่องจากปีสุริยคติมีจำนวนวันมากกว่าปีจันทรคติ 11-12 วัน โอกาสเกิดบลูมูนจึงมีอย่างน้อยสามปีครั้ง อย่างไรก็ตาม คำว่าบลูที่หมายถึงสีน้ำเงินจริงๆ โลกเคยได้เห็นมาแล้ว ปรากฏการณ์จันทร์เพ็ญสีน้ำเงินเกิดจากฝุ่นผงหนาในอากาศที่เป็นผลจากการระเบิดของภูเขาไฟ เรื่องนี้เคยมีบันทึกไว้ในอดีต เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดได้ไม่บ่อยครั้งนักยังมีปรากฏการณ์เกี่ยวกับจันทร์เพ็ญอื่นอีก อย่างเช่น “ซูเปอร์มูน” (Super moon) โดยดวงจันทร์วันเพ็ญโตกว่าปกติ 14% หรือมากกว่านั้น เป็นผลจากการโคจรเข้าใกล้โลก อีกปรากฏการณ์หนึ่งคือ “บลัดมูน” (Blood moon) ดวงจันทร์ทั้งดวงถูกเงาจางของโลกทาบทับทำให้เห็นเป็นสีน้ำตาลอิฐเรียกกันว่าจันทร์เพ็ญสีเลือด ปรากฏการณ์ลักษณะนี้อาจส่งผลให้เห็นดวงจันทร์สะท้อนแสงในอากาศเกิดเป็นสีอื่น เป็นต้นว่า สีม่วง สีน้ำเงิน สีแดง ก็ย่อมได้ ยังมีอีกปรากฏการณ์หนึ่งถูกนำเสนออยู่บ่อยครั้งนั่นคือภาพจันทร์เพ็ญดวงโตมโหฬารเมื่อเทียบกับสิ่งแวดล้อม เช่น บ้านหรือวัดหรือโบสถ์หรือมัสยิด เหล่านั้นเกิดจากเทคนิคการถ่ายภาพที่โฟกัสไปที่ดวงจันทร์เทียบกับวัตถุที่เป็นฉากหน้า จันทร์เพ็ญเวลานั้นไม่ได้มีขนาดโตเกินปกติแต่อย่างใด ทั้งบลูมูน ซูเปอร์มูน บลัดมูนเป็นปรากฏการณ์ปกติไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำทำนาย อิสลามไม่แนะนำให้เสียเวลากับเรื่องของโชคลางอย่างนั้น #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ดวงจันทร์ในอัลกุรอาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *