เมื่อนักวิทยาศาสตร์วางแผนจะสร้างมนุษย์จากฝุ่น (ตอนที่ 1)

เทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) ในวันนี้ก้าวหน้าถึงระดับที่นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างเบสเแต่ละชนิดที่พบในดีเอ็นเอจากปฏิกิริยาเคมีในห้องทดลอง ทั้งสามารถนำเบสเหล่านั้นมาจับเรียงต่อกันเป็นโพลีเมอร์สร้างเป็นสายดีเอ็นเอใหม่หรือแม้กระทั่งลอกเลียนดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตโดยนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างสายดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตได้ทั้งแบบล่างขึ้นบน (bottom up) และบนลงล่าง (top down) เปลี่ยนแบคทีเรียชนิดหนึ่งให้เป็นอีกชนิดหนึ่ง หรือแม้กระทั่งสร้างแบคทีเรียชนิดใหม่ขึ้นมาจากธาตุแต่ละตัวหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการสร้างจากฝุ่น (from scratch)

ก้าวหน้าถึงระดับนี้จึงทำให้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งคิดการใหญ่เกินตัววางแผนจะสร้างมนุษย์ขึ้นจากฝุ่นบ้าง เป็นความฝันที่จะทำงานท้าทายเทคโนโลยีหรือแม้กระทั่งท้าทายพระผู้เป็นเจ้า ย้อนหลังกลับไปใกล้สามปี ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2016 นักวิทยาศาสตร์ นักชีววิทยาโมเลกุล นักวิศวกรรมพันธุศาสตร์ นักกฎหมาย นักจริยศาสตร์สังคม นักวิชาการกลุ่มที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจำนวนรวมกัน 130 คนไปร่วมประชุมกันที่วิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หาข้อสรุปเรื่องการสร้างชีวิตมนุษย์จากสารเคมีโดยคิดจะทำกันอย่างจริงจัง ใครที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่ได้รับเชิญห้ามเข้าร่วมประชุมเด็ดขาด กระทั่งนักข่าวก็ห้ามเข้า

โครงการที่วางแผนกันไว้นี้จัดเป็นโครงการวิจัยนานาชาติใช้ระยะเวลานานสิบปี ตั้งใจกันว่าจะสร้างจีโนมหรือรหัสพันธุกรรมมนุษย์ขึ้นที่มีความสมบูรณ์แบบที่สุด โดยการสังเคราะห์ขึ้นจากสารเคมีในห้องทดลองทั้งหมด จากนั้นทำการเก็บรหัสหรือจีโนมมนุษย์ที่ว่านี้ไว้ คิดจะนำไปผลิตเป็นมนุษย์จริงๆผ่านกระบวนการโคลนนิ่งหรือโดยวิธีอื่นค่อยว่ากันอีกที ขอให้เริ่มต้นจากการพัฒนาจีโนมมนุษย์สำเร็จรูปขึ้นมาทั้งทางเอกสารและจากการวิเคราะห์ทางเคมีให้ได้ก่อนเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์หลักในงานนี้ ได้แก่ ดร.จอร์จ เชิร์ช (George Church) พันธุวิศวกรที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนายีนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ดร.เจฟ บวก (Jef Boeke) นักพันธุศาสตร์แห่งคณะแพทยศาสตร์ วิทยาเขตบัลติมอร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิน และ ดร.แอนดริว เฮสเซล (Andrew Hessel) แห่ง Autodesk Research บริษัทข้ามชาติที่มีชื่อเสียงทางด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์

โครงการนี้เกิดอาการสะดุดเมื่อนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังบางคนอย่างเช่น ดร.ดริว แอนดี (Drew Andy) นักพันธุศาสตร์สังเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ได้รับเชิญนอกจากไม่ยอมเข้าร่วมแล้วยังตั้งคำถามกลับไปว่าเหตุใดจึงต้องประชุมกันเป็นความลับนัก คิดจะใช้รายนามของผู้เข้าร่วมประชุมเป็นตรายางรับรองโครงการหรือเปล่า แม้ถูกทักท้วงแรงๆอย่างนั้น นักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าวกลับเดินหน้าต่อ ทว่าปัญหาใหญ่เกิดขึ้นนั่นคือหาทุนดำเนินงานได้ไม่พอ จนถึงวันนี้เวลาผ่านไปเกือบสามปียังไม่ปรากฏรายงานความก้าวหน้าใดๆออกมาเลย