เกียรติยศมุสลิมต้นแบบจากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ แห่งประเทศไทย

มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ (Aligarh Muslim University) หรือ AMU เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเอกชนระดับคุณภาพของอินเดีย ตั้งอยู่ในพื้นที่ 2,924 ไร่ ในเมืองอาลีการ์ รัฐอุตรประเทศ ห่างจากทัชมาฮาลซึ่งอยู่ทางใต้แค่ 89 กิโลเมตร AMU ตั้งขึ้นใน ค.ศ.1875 ปัจจุบันมีนักศึกษา 26,000 คน ส่วนหนึ่งมาจากหลายประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมจากทั่วประเทศ มุสลิมไทยที่เป็นศิษย์เก่า AMU ที่มีชื่อเสียงมีอยู่มาก รวมตัวจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่า AMU แห่งประเทศไทย (AMUAAT) มาตั้งแต่ พ.ศ.2558 มี ศ.ดร.จรัล มะลูลีม เป็นนายกสมาคมคนแรก ตั้งสมาคมมาสิบปี วันนี้นายกสมาคมคือ รศ.ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมาคมจัดงานชุมนุมศิษย์เก่าที่มีเป็นจำนวนพันทุกปี มาถึงปีนี้กรรมการสมาคมมีดำริที่จะคัดเลือกมุสลิมต้นแบบในสังคมไทยเพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจให้กับมุสลิมรุ่นใหม่ จึงมีมติให้ผมเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการคัดเลือกเป็นมุสลิมต้นแบบของสังคมไทย เมื่อคืน (27 มกราคม 2567) สมาคมจัดงานชุมนุมศิษย์เก่าจึงเชิญผมไปปรากฏตัวและแสดงปาฐกถาที่ภัตตาคารสินทรสเต้กเฮาส์ ถนนศรีนครินทร์ โดยมีเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยมาร่วมงานพร้อมกับศิษย์เก่าและครอบครัวจำนวนประมาณ 200 คนผมใช้เวลาปาฐกถาประมาณ 20 นาที กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ศักยภาพ สำนักงานสาขา ตลอดจนรางวัลต่างๆจากทั่วโลก ผมเริ่มทำงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลตั้งแต่ พ.ศ.2538 ต่อมารัฐบาลมีมติ ครม.อุดหนุนงบประมาณสามปี พ.ศ.2547-2549 จากนั้น ศวฮ.หาทุนเพื่อดำเนินงาน อยู่มาได้จนฉลองครบรอบ 20 ปีใน พ.ศ.2565 รุ่งเรืองบ้าง ล้มลุกคลุกคลานบ้าง อย่างเช่น พ.ศ.2563 ไม่มีงบประมาณดำเนินงานเลย นับจากนั้นถึงปัจจุบันเหลืองบประมาณดำเนินงานแค่ 16% ที่เคยมีในอดีตเท่านั้น การบริหารจัดการ ศวฮ.จึงไม่เคยง่ายปัจจุบัน ศวฮ.มีบุคลากร 50 คน เป็นระดับปริญญาเอก 7 คน มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์มากกว่า 200 ชิ้น มี 4 สำนักงานที่กรุงเทพฯ ปัตตานี เชียงใหม่ นครนายก มีห้องปฏิบัติการที่กรุงเทพฯและนครนายก วางระบบการมาตรฐานฮาลาลให้กับโรงงาน 1,112 โรง ครอบคลุมคนงาน 158,638 คน วิเคราะห์ผลิตภัณฑ์โดยห้องปฏิบัติการจำนวน 188,731 ตัวอย่าง รับรางวัลมามากมายจากทั่วโลก ผมเองได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหราชอาณาจักร บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีน่า รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิทยาศาสตร์จากพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เดินทางบรรยายทั่วโลกใน 50 ประเทศหลายร้อยครั้ง รวมถึงการบรรยายระดับโลกสองครั้งที่เกาหลีใต้และซาอุดีอาระเบียAMUAAT ให้เกียรติผมครั้งนี้ สร้างความปลาบปลื้มใจแก่ผมมาก ผมเดินทางไปรับรางวัลจากทั่วโลก ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 500 มุสลิมผู้ทรงอิทธิพลของโลก 15 ปีซ้อน ค.ศ.2010-2024 โดยมีน้อยครั้งที่เป็นการยกย่องจากมุสลิมในประเทศ การมอบให้เป็นมุสลิมต้นแบบจาก AMUAAT ครั้งนี้ผมจึงภูมิใจมาก#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์, #ดรศราวุฒิอารีย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *