“ฮิจเราะฮฺ” กับการกำเนิดพหุวัฒนธรรมและยุคทองด้านศิลปวิทยาการของโลกอิสลาม

ยุโรปยุคคริสต์ศตวรรษที่ 5-15 ยาวนานพันปีเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า “ยุคมืด” (Dark age) ทำเอาทั้งทวีปจมปลักอยู่กับความล้าหลังทางปัญญาและอารยธรรม ระหว่างนั้นโลกอิสลามถือกำเนิดขึ้นในอาระเบียและทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วสร้างความก้าวหน้ามากมายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระทั่งเรียกขานกันว่า “ยุคทอง” (Golden age) ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 7-13 ต่อเนื่องจนถึงศตวรรษที่ 15 ความก้าวหน้าของโลกอิสลามเป็นผลมาจากความเป็นพหุวัฒนธรรม (Multiculturalism) ที่บ่มเพาะขึ้นจากวัฒนธรรมการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางทางการเมืองที่เริ่มตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 7 โดยอิสลามเรียกการเคลื่อนย้ายนี้ว่า “ฮิจเราะฮฺ” (الهجرة Hijrah)โลกอิสลามกำหนดฮิจเราะฮฺไว้ใน ค.ศ.622 เมื่อท่านรอซูลมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) นำมุสลิมเคลื่อนย้ายจากมักกะฮฺไปยังเมืองมะดีนะฮฺ นั่นคือครั้งแรก ฮิจเราะฮฺในอิสลามยังเกิดอีกหลายครั้ง เช่น ค.ศ.656 ย้ายจากมะดีนะฮฺไปยังกูฟา ค.ศ.661 ย้ายจากกูฟาไปดามัสกัส ค.ศ.762 ย้ายจากดามัสกัสไปแบกแดด โดยทุกครั้งมีการเคลื่อนย้ายประชากรที่นับวันทวีความหลากหลายมากขึ้น เริ่มจากชนอาหรับหลายชนเผ่า พัฒนากระทั่งกลายเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมปะปนกันระหว่างชนหลายเชื้อชาติและศาสนา ต่อมาใน ค.ศ.830 คอลีฟะฮฺอัลมะมูน (Al Ma’moon) แห่งราชวงศ์อับบาสิยะฮฺได้สร้างสถาบันด้านวิชาการที่เรียกว่า “ไบตุลฮิกมะฮฺ” (Baitul Hikmah) ขึ้นในแบกแดด สรรสร้างศิลปวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นอย่างโดดเด่นกระทั่งสร้างยุคทองแห่งอิสลาม ที่แสดงบทบาทอย่างสำคัญในการปลุกยุโรปจากยุคมืดให้ก้าวเข้าสู่ยุคเรเนสซองค์ ความสำเร็จของไบตุลฮิกมะฮฺคือการรวบรวมนักวิชาการหลากหลายเชื้อชาติและศาสนาให้อยู่ภายใต้ร่มสถาบันเดียวกัน สรรสร้างเทคโนโลยีต่างๆขึ้น เกิดพัฒนาการด้านคณิตศาสตร์ เรขาคณิต ตรีโกณมิติ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิศวกรรมศาสตร์ กำเนิดแนวคิดอัลกอริธึมเพื่อการกำหนดแผนงาน ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่กำเนิดเป็นพหุวัฒนธรรมของโลกอิสลามในวันนั้นมีมากกว่าความเป็นพหุวัฒนธรรมในยุโรปและอเมริกาที่สรรสร้างเทคโนโลยีให้กับโลกทุกวันนี้เสียด้วยซ้ำ ความสำเร็จทางวิชาการของพหุวัฒนธรรมในโลกอิสลาม ที่ขอยกขึ้นไว้เป็นตัวอย่างในที่นี้ ได้แก่ การวัดความยาวของเส้นรอบวงโลกเมื่อต้นศตวรรษที่ 9ใน ค.ศ.820 ก่อนการจัดตั้งไบตุลฮิกมะฮฺ คอลีฟะฮฺอัลมะมูนทรงบัญชาให้นักวิชาการในราชสำนักแบ่งออกเป็นสองทีมนำโดยสะนัด อิบนุ อะลี และอะลีอิบนุอีซา อัลอัสทรัลบี ทำการวัดเส้นรอบวงของโลกเป็นครั้งแรก สองทีมที่กล่าวถึงนี้ประกอบด้วยนักวิชาการหลายเชื้อชาติและศาสนา มีทั้งอาหรับ เปอร์เซีย อียิปต์ เอเชียกลาง เติร์ก อะมาซิก ยุโรปหลายชนชาติ เป็นพหุวัฒนธรรมที่สร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ให้กับโลกอิสลามเป็นอย่างมาก ผลสัมฤทธิ์คือตัวเลขเส้นรอบวงของโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตรที่พบว่ายาว 39,986 กิโลเมตร ผิดจากข้อเท็จจริงคือ 40,075 กิโลเมตร เพียง 89 กิโลเมตรหรือ 0.22% เท่านั้น เป็นความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์-คณิตศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 1,200 ปีมาแล้ว อันเป็นผลมาจากความเป็นพหุวัฒนธรรมในโลกอิสลามที่เริ่มต้นจากฮิจเราะฮฺแท้ๆ#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ฮิจเราะฮฺ, #ยุคทองโลกอิสลาม, #พหุวัฒนธรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *