ออกกำลังกายแก้โรคอ้วนและเบาหวาน

โรคอ้วนกำหนดค่าดัชนีความหนาของร่างกาย (Body Mass Index หรือ BMI) ไว้ไม่เกิน 25 กก./ม.2 ผมเองก่อน พ.ศ.2558 มีน้ำหนักตัว 83 กิโลกรัม ส่วนสูง 1.69 เมตร ผมมี BMI 29 แม้ยังไม่นับเป็นโรคอ้วนแต่ผมเสี่ยงต่อสารพัดโรคที่จะตามมาทั้งเบาหวานประเภทที่สอง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด อาการบางโรคเริ่มแสดงออกให้เห็นแล้วด้วยซ้ำ ถึง พ.ศ.2558 ผมเริ่มถือศีลอดแบบสุนนะฮฺหรือตามแนวทางศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี ทางวิชาการเรียกว่าไอเอฟ (IF) เพื่อปรับปรุงสุขภาพและดูแลความสงบทางจิตใจผมถือศีลอดเดือนรอมฎอน อดอาหารแบบสุนนะฮฺ ลดอาหารพลังงาน ละหมาดทุกเวลาที่กำหนด น้ำหนักตัวจาก 83 กิโลกรัมลดเหลือ 75 กิโลกรัม BMI เหลือ 26 ทว่าความเสี่ยงต่อเบาหวานยังไม่ลด ระดับน้ำตาลในเลือดยังคุมได้ยาก คืออยู่ในระดับ 100-110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งควรต่ำกว่า 100 ผมควรมีน้ำหนักตัวไม่เกิน 71 กิโลกรัม แต่ไม่ว่าจะลดอาหารขนาดไหน น้ำหนักตัวไม่ลงต่ำกว่า 75 กิโลกรัมได้เลยเคยลองมาแล้วตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2555 เสียด้วยซ้ำ ไขมันดื้อยังพอกอยู่เต็มพุง แผ่นหลัง แขน ขา และก้นไม่หนีหายไปไหน ปลาย พ.ศ.2564 ผมเริ่มยุทธวิธีใหม่นั่นคือ “ออกกำลังกาย” โดยเดินวันละหมื่นก้าวทุกวัน ควบคู่ไปกับการอดอาหาร อดแบบสุนนะฮฺและรอมฎอน เคร่งครัดกับการละหมาด เข้า พ.ศ.2565 น้ำหนักตัวผมลดต่ำกว่า 75 กิโลกรัมเป็นครั้งแรก และลดต่อไปจนได้ระดับ 66 กิโลกรัมไม่เพิ่มกลับไปอีกเลย ไขมันดื้อสลายไปจนหมด ควบคุมน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตดีขึ้น สุขภาพโดยรวมดีขึ้นมาก โดยสรุปคำตอบมาจากการออกกำลังกายนั่นเอง โดยผมนับการละหมาดเป็นส่วนหนึ่งของการออกกำลังกายเช่นกัน ทว่าผมยังมีคำถามค้างอยู่ในใจว่าการออกกำลังกายเข้าไปช่วยกลไกทางด้านไหนกันแน่ มาวันนี้น่าจะมีคำตอบแล้วมีงานวิจัยทางการแพทย์จากสถาบัน Helmholtz Munich และ Potsdam-Rehbrücke (DIfE) เยอรมนี ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Metabolism เดือนกันยายน ค.ศ.2023 พบว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอกระตุ้นกลไกทางชีวเคมีผ่านทีเซลล์ชนิดควบคุม (T.reg) ซึ่งเป็นกลไกภูมิคุ้มกันร่างกายโดยเข้าควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ส่งผลเชิงบวกต่อทั้งกลไกภูมิคุ้มกันและการสร้างกล้ามเนื้อ โดยทำงานผ่านโมเลกุลตัวรับของสาร interleukin-6 (IL6) ที่เรียกว่า IL6R โมเลกุลตัวรับที่ว่านี้เองช่วยควบคุมการจ่ายพลังงานของกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม นักวิจัยเชื่อว่ากลไกนี้จะช่วยฟื้นฟูสุขภาพโดยรวมของร่างกาย สรุปคือหากต้องการมีสุขภาพที่ดี แนะนำให้ลดพลังงานที่บริโภคควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อดูแลการใช้จ่ายสารพลังงานอย่างเหมาะสม ข้อมูลทางวิชาการในวันนี้จึงให้คำตอบแก่ผมไว้อย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ออกกำลังกายแก้โรคอ้วนและเบาหวาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *