อบเชย (Cinnamon) กับประโยชน์ที่ได้ต่อสุขภาพ ตอนที่ 4

อบเชยเป็นพืชยืนต้นสูงประมาณ 4-10 เมตร อยู่ในวงศ์ Lauraceae สกุล Cinnamomum ใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยวเส้นใบหยัก 3 เส้น ใบเรียงตรงข้ามกัน ออกดอกย่อยสีเหลืองอ่อนรวมกันเป็นช่อบริเวณซอกใบหรือปลายกิ่ง ทั้งเปลือกไม้ทั้งใบมีกลิ่นเฉพาะตัวที่ค่อนข้างหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่หลายชนิด ส่วนรสชาติปนหวานปนฝาดเพราะฤทธิ์ของสารพฤกษเคมีจำนวนไม่น้อยโดยมีแทนนินที่ให้รสฝาดปนอยู่มาก

อบเชยมีความหลากหลายทางสายพันธุ์มากโดยพบกว่า 50 สายพันธุ์ ประเทศไทยแม้จะปลูกอบเชยได้ไม่ดีนักยังมีอบเชยพันธุ์ไทยมากถึง 16 สายพันธุ์แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมสักเท่าไหร่ เราอาจแบ่งอบเชยที่รู้จักกันในบ้านเราออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ 1) อบเชยศรีลังกาหรืออบเชยเทศซึ่งราคาแพงที่สุด 2) อบเชยชวาเป็นชนิดที่นิยมกันมากที่สุด 3) อบเชยจีนที่บางครั้งเรียกกันว่า cassia เป็นชนิดที่นิยมกันพอสมควรแต่ให้รสชาติสู้อบเชยศรีลังกาและชวาไม่ได้ 4) อบเชยไทยซึ่งไม่นิยมกันเท่าไหร่ และ 5) อบเชยญวนซึ่งชนิดหลังนี้คนไทยรู้จักกันดีที่สุดมีน้ำมันหอมระเหยมากถึงร้อยละ 2.5 ให้รสหวานแต่กลิ่นกลับไม่ค่อยหอมนัก

ส่วนของอบเชยที่นำมาใช้คือเปลือกชั้นในของกิ่งรวมทั้งลำต้นที่เมื่อลอกออกมาแล้ว นำมาหั่นเป็นชิ้นจากนั้นจึงนำมาม้วนก่อนอบให้แห้ง ไม้อบเชยจะม้วนตัวกลายเป็นแท่งหรือหลอดอย่างที่เห็นกันทั่วไป สามารถนำมาใช้ทั้งในรูปของหลอดไม้หรือนำมาบดเป็นผง ใช้ในรูปส่วนผสมของเครื่องแกงก็ได้ นำมาโรยอาหารหรือเครื่องดื่มก็ได้ หรือนำมาใช้เป็นส่วนผสมในสมุนไพรทั้งไทยทั้งจีน มีสรรพคุณรักษาโรคได้หลายโรค

อบเชยในรูปสมุนไพรใช้ทั้งเปลือกทั้งรากและใบในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร อย่างเช่น แก้อาการจุกเสียด ช่วยขับลมลดอาการแน่นท้อง ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้ท้องร่วง ขับปัสสาวะ ช่วยย่อยไขมัน แก้อาการอ่อนเพลีย ทำให้สดชื่น นอกจากนี้ก็อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้คือพักหลังๆมีการนำอบเชยส่วนเปลือกมาใช้ในเรื่องการลดระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งใช้ลดไขมันในเลือด กลายเป็นสมุนไพรยอดนิยมในเรื่องการแก้ไขปัญหาเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดไปแล้ว

อบเชยในท้องตลาดที่เห็นๆกันอยู่มีอยู่สองสามชนิด ได้แก่ อบเชยชวา (Cinnamomum burmanii) ซึ่งมีกลิ่นค่อนข้างหอม สีค่อนข้างซีด อบเชยญวน (Cinnamomum loureirii) กลิ่นไม่หอมสักเท่าไหร่ อีกชนิดหนึ่งคืออบเชยจีน (Cinnamomum cassia) สีค่อนข้างคล้ำมีเปลือกหนา สังเกตจากสีก็คงเห็นความแตกต่างจากอบเชยชนิดอื่น ส่วนอบเชยศรีลังกา (Cinnamomum zeylanicum) ที่เรียกกันว่าอบเชยแท้หรืออบเชยเทศไม่ค่อยเจอในตลาดบ้านเราสักเท่าไหร่ ราคาค่อนข้างแพง #Drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#อบเชย#cinnamon

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *