อบเชย (Cinnamon) กับประโยชน์ที่ได้ต่อสุขภาพ ตอนที่ 2

การค้นพบอเมริกาไล่เรียงไปจนถึงการค้นพบหมู่เกาะเครื่องเทศในอินโดนีเซีย รวมไปถึงการค้นพบอเมริกาใต้ ฮาวาย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ของบรรดานักเดินเรือชาวตะวันตก เป็นผลโดยอ้อมมาจากการหาเส้นทางหลบเลี่ยงที่จะต้องเผชิญกับชาติมหาอำนาจอย่างอาณาจักรออตโตมานซึ่งเป็นมุสลิมในแถบคาบสมุทรอะนาโตเลียและมองโกลในเอเชียกลางแทบทั้งนั้น สิ่งที่เป็นผลตามมาคือความมั่งคั่งจากการทำการค้าทางทะเลซึ่งมีทั้งแพรพรรณ ผ้าไหม เครื่องลายคราม รวมทั้งสมุนไพรเครื่องเทศที่มีอบเชยรวมอยู่ในรายการด้วย

แหล่งของอบเชยที่ดีที่สุดสำหรับชาวยุโรปคือเกาะศรีลังกาที่ค้นพบโดยชาวปอร์ตุเกสตอนต้นคริสตศตวรรษที่ 16 ก่อนที่จะยอมถอยให้กับชาวดัทช์ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 สุดท้ายปลายศตวรรษที่ 18 ดัทช์เองก็ต้องยอมมอบอำนาจในศรีลังกาให้กับมหาอำนาจอย่างอังกฤษที่ครอบครองสวรรค์แห่งเครื่องเทศแห่งนี้นานนับร้อยปี แต่ถึงจะต้องสูญเสียศรีลังกาให้กับอังกฤษแต่ดัทช์หรือฮอลแลนด์ก็ยังครอบครองหมู่เกาะโมลุกกะในอินโดนีเซียที่ถือว่าเป็นแหล่งของเครื่องเทศแท้ๆ

สูญเสียอบเชยศรีลังกาได้อบเชยชวามาแทน ข้อเสียเปรียบที่อาจจะมีอยู่บ้างสำหรับพ่อค้าชาวดัทช์คืออบเชยทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันอยู่ แม้เป็นพืชตระกูลเดียวกันแต่คนละสายพันธุ์ โดยชาวยุโรปถือว่าพันธุ์ศรีลังกาที่มีรสชาตินุ่มนวลกว่าเป็นอบเชยแท้หรือ true cinnamon อย่างไรก็ตาม ผลต่อสุขภาพที่พบกันในภายหลังยังไม่พบว่าแตกต่างกันสักเท่าไหร่ มีแต่รสชาติเท่านั้นที่ไม่เหมือนกันนัก จึงไม่มีอะไรจะต้องห่วง

ตอนปลาย ค.ศ. 2009 มีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Journal of American Board of Family Medicine โดยนายแพทย์ Paul Crawford แห่ง Mike O’Callaghan Federal Hospital เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา สรุปออกมาว่าอบเชยช่วยลดภาวะน้ำตาลสูงในเลือดป้องกันเบาหวานชนิดที่สองที่เป็นกันในผู้ใหญ่ได้ เป็นการลดน้ำตาลที่ค่อนข้างจะจิรังโดยวัดจากระดับ hemoglobin A1C ในเลือดที่ลดลง

คนเราหากน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเป็นระยะเวลานานพอสมควร น้ำตาลเหล่านี้จะเข้าไปจับตัวกับสารฮีโมโกลบินที่อยู่ภายในเม็ดเลือดแดง ส่งผลให้ระดับ hemoglobin A1C เพิ่มขึ้น การลดน้ำตาลเป็นมื้อเป็นคราวโดยยังติดนิสัยแอบบริโภคน้ำตาลอยู่ แม้จะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงได้บ้าง แต่ระดับน้ำตาลที่ไปจับตัวกับเม็ดเลือดจะเป็นตัวฟ้องว่าระดับน้ำตาลยังไม่ลด ปัญหาจากเบาหวานยังคงอยู่ แพทย์ยุคหลังๆจึงนิยมใช้ระดับ hemoglobin A1C เป็นดัชนีที่บอกปัญหาเบาหวาน บอกได้เลยว่าผู้ป่วยคุมเบาหวานได้หรือไม่ #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#อบเชย#cinnamon

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *